JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0

ผมใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเข้าคู่นก ไม่ว่าจะเข้าคู่เพื่อเก็บทำพันธุ์ หรือ เข้าคู่เพื่อใช้แข่งขัน และ แนวทางในการเลี้ยง (ตอนที่ 2 มีแก้ไขเพิ่มเติม)

2016-03-03 10:51:29 ใน สรรสาระ » 0 2969

ผมใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเข้าคู่นก ไม่ว่าจะเข้าคู่เพื่อเก็บทำพันธุ์ หรือ เข้าคู่เพื่อใช้แข่งขัน และ แนวทางในการเลี้ยง (ตอนที่ 2)

ในตอนที่ 1 ผมเริ่มเกริ่นถึงพื้นฐานที่สำคัญที่ผมได้ดัดแปลงมาเป็นพื้นฐานของ
กรง Francis Loft ไปหลักๆ เช่น

Process – กระบวนการในการสร้างทีมที่เราควรจะต้องมี  "เป้าหมาย"  ในการเลี้ยงนกของเราซึ่งเราต้องรู้ว่าเราเลี้ยงนกแข่งนก "เพื่ออะไร" ตรงนี้สำคัญนะ เพราะมันจะทำให้เรามี "ความสุข" โดยเฉพาะกับ
"ผล" ที่ได้ "มากหรือน้อย" นั้นต่างกัน  จะได้มีความสุข สมหวังในระดับที่ตนเองนั้น "พอใจ" หรือ "ดีกว่า"ที่ตนเองนั้นคิด หรือว่า"ต่ำกว่า"ที่เราได้วางไว้   

ผมเน้นว่าตรงจุดนี้สำคัญ เพราะ การแข่งนก ที่สำคัญ มันมีผล
" ชนะ และ แพ้ " อยู่ในตัวมันเอง ผลที่ได้เราจะได้ "เตรียมตัว เตรียมใจ" กับมันได้  

คนเลี้ยงเพราะใจรัก อยากสนุก ไม่หวังผลอะไร ก็มีนะ 
คนเลี้ยงอยากชนะ อยากจะวัดความสามารถ ความคิดอ่าน ความมั่นใจ ของตนเอง ชนะก็ดี แพ้ก็ได้ ก็มีนะ
คนเลี้ยงนกเพราะอยากจะได้กินห่วง กุ๊ วงนอกสารพัด ได้เงินก็มีเยอะนะ
คนเลี้ยงนกเพราะใจรัก เป้าหมายอยู่ที่ติดอันดับดี พร้อมพัฒนาตนเอง และ ทีมงาน(ถ้ามี) อยากชนะได้ครองถ้วยพระราชทานก็มีนะ

คนเลี้ยงนกจำนวนมากก็ยังไม่มีคำตอบกับตัวเองที่ชัดเจน แต่ก็อยากจะชนะไปหมดทุกอย่าง

ท่านอยู่กลุ่มใดครับ?



ผมเองก็ได้พูดถึง Design การวางรูปแบบ การสรรหานกพันธุ์ การออกแบบ การวางแผน วางStrategy ยุทธศาสตร์ การเอาองค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้องมากองรวมกัน คิดถึงเส้นทางที่เราจะเดิน  

มี Expectation คาดหวังอะไรเป็น Target เป็นเป้าหมายเป็นหลักชัยในรูปแบบของเรา  รวมถึงการทดลอง และ ผลที่ได้มานั้นก็วิเคราะห์กันไปว่ามันเป็นอย่างไร อะไรที่ดีที่เราควรเดินต่อไป อะไรบ้างที่เราควรปรับเปลี่ยน….. เหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ผมให้ความสำคัญ





พื้นฐานที่ว่าทำไมถึงให้ความสำคัญ?

การเลี้ยงนกปัจจุบันมันยิ่งวันยิ่งยากนะ  คู่แข่งนั้นต่างก็ปรับตัวเอง ไม่ว่าจะสายพันธุ์ วิธีการเลี้ยง การให้อาหาร วิตามิน ยาป้องกันและรักษาโรค  เทคนิคในการซ้อมนก การล่อคู่นก การปรับปรุงกรงนกแข่งให้ดี ทำเลที่ดี ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอะไรที่มีผลทำให้นกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น ซึ่งย่อมมีผลต่อผลการแข่งขันให้ชนะในอันดับที่ดีขึ้น  กรงไหนดีไม่ดีเห็นชัด และจะยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆถ้าเราดูที่ "ทีมนก" ที่เขามา ผลการแข่งขันที่ไม่ใช่วัดกันที่นกตัวเดียวนะ ดูที่ทีมนกครับ

ผมมาวิเคราะห์ดูแล้วยิ่งวันยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆว่า การเลี้ยงนกนั้น คนเลี้ยงนกปัจจุบันนั้น “GAP” หรือ “ช่องว่าง ช่วงต่อ ระยะห่าง” นั้นไม่กว้างมากเหมือนสมัยก่อน  เดี๋ยวนี้คนเลี้ยงนกนั้นมีความรู้ที่ดีขึ้นมากๆ มีข้อมูลข่าวสารที่ดีขึ้นมากๆ อาหารที่ดีสั่งมาจากเมืองนอก ยาที่ดีมีให้ใช้กันมากขึ้น มีความรู้เรื่องวิตามิน ยา ต่างๆดีขึ้น การซ้อมนกจำนวนมากนั้นก็ออกซ้อมกันเองแล้ว ปล่อยเดี่ยว ปล่อยเข่ง ปล่อยกลุ่ม มีหลากหลายรูปแบบ เทคนิคก็แพรวพราวกันแทบจะทุกกรง  ซึ่งแน่นอนทุกคน ทุกกรง ต่างก็มุ่งหวังให้นกของตัวเองนั้นดี  ผมมองว่าช่องว่างหรือ Gap ตรงนี้นั้นไม่ต่างกันมากแล้วในปัจจุบัน และ อยู่บนพื้นฐานที่ไล่ตามกัน  จะมีอยู่บ้างก็ “ประสบการณ์” ที่ต่างกัน แต่ ไม่จำเป็นว่าเลี้ยงนานปีกว่า จะเก๋ากว่า เก่งกว่าคนเลี้ยงนกได้ไม่นาน  ไม่จริงเลยครับ ของพวกนี้มันอยู่ที่ตัวเรามีหลักการ ความเข้าใจ และ มีจิตใจที่เป็นกลาง เป็นธรรม เป็นศาสตร์ มากขนาดไหน เพราะ ถ้าเลี้ยงแบบมั่วๆ ขอไปที ไม่มีหลัก ก็เหนื่อยแน่ นกไม่ใช่เครื่องจักรนะครับ  ท้องฟ้าก็ไม่ได้ดีไปซะทุกวัน  สุขภาพนกเองก็ไม่ได้ดีไปหมดซะทุกวัน  คิดว่าท่านผู้อ่านคงเข้าใจในสิ่งที่ผมพูดถึงดีครับ 



อดีตไม่สำคัญ ปัจจุบัน และ อนาคต สำคัญมากๆ

สิ่งที่ผมได้เขียนถึงก่อนหน้านี้นั้น ผมมองว่าอดีตมันผ่านไปแล้ว เป็นบทเรียน เป็นอะไรที่จบไปแล้ว อย่าไปจมกับมัน หรือ เหลิงระเริงกับมัน จนลืมว่าเราอยู่กับปัจจุบัน และ ก้าวไปเพื่ออนาคต

ปัจจุบันเรื่องการเลี้ยงนกนั้น คนเลี้ยงนกเราได้พัฒนากันดีขึ้นมากๆ ทันกันไปในทิศทางที่ดี  ดูจากผลแข่งในแต่ละจุดก็จะเห็นถึงความยากในชัยชนะที่จะได้ในปัจจุบัน  จะชนะกันก็ไม่มาก ไม่ทิ้งห่าง  เรียกกันภาษา"นก" ว่า
มาบี้ติดๆกันก็ว่าได้ 


จุดเชียงราย 700 กม. กรงเรา ที่ 1 ถึง 4 ครั้ง ในยุคหลังปี 2000
ผมชนะที่ 1 ถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จุดเชียงราย ปี2001 ชนะที่ 2 ไป 2 นาที 
ปี 2009 ชนะที่ 2 อยู่ 10 วินาที 
ปี 2014 ชนะที่ 2 เฉียดฉิว 6 วินาที และ
ล่าสุดปี 2015 ดีหน่อยชนะที่ 2 ประมาณ 3 นาที  


นี่เชียงรายนะครับ  ถ้าสมัยผมเป็นเด็กตอนเริ่มเลี้ยงใหม่ๆ ปี 1978 นั้น  เชียงรายจะมาได้ก็ไม่กี่ตัว ไม่มีครบอันดับแน่ มาก็ 5 โมงกว่าๆ เกือบ 6 โมง หรือ กว่านั้น หรือ ข้ามวันกันก็บ่อย จำได้ว่าสมัยนั้นคุณเนติเก่งมากๆ เชียงรายเขาได้ครองถ้วยพระราชทานของส่งเสริมฯ 2-3 สมัยนั้น นกเข้าได้ในวันแรกไม่ถึง 10 ตัว    ปัจจุบันนกเชียงรายที่ผมชนะที่ 1 ปี 2001, 2009, 2014, 2015 นั้น ดูในผลแข่งได้เลยว่า นกทั้ง 4 ตัว เข้าในวันแรก และ เข้ามาประมาณบ่าย 4 โมงครึ่ง จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของการเลี้ยง และ สายพันธุ์นั้นต่างกันไปจากอดีตไปมากแล้ว นกบินเร็วขึ้นมากๆ


ผมเลี้ยงนกพิราบแข่ง ตอนปลายปี 1977 เริ่มสัมผัสบรรยากาศ การเลี้ยง การแข่ง ก็ปี 1978 สิ่งหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และ เป็นฐานที่สำคัญ กรงผมเองได้เรียนรู้และพัฒนาไปเรื่อยๆปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่คิดว่าดีมากคือ การสร้างทีมนกพันธุ์ การสร้างสายพันธุ์ของตนเอง จุดเริ่มก็ตอนที่อยู่ที่ประเทศเยอรมัน 3 ปี ในช่วงปี 1998 – 2000 ช่วงนั้นทำให้เราได้คลุกคลีการเลี้ยงนกแข่ง นกพันธุ์ และ เรียนรู้ถึงนกพันธุ์ ได้เรียนรู้การเลี้ยงนกในยุโรป ที่สำคัญคือหลักคิด และ หลักทำ ที่เราได้และเปลี่ยนเราไปในทางที่เข้าใจนกพิราบแข่ง และ นกพันธุ์มากขึ้น (เอาว่าตอนหน้าเจาะรายละเอียดเพิ่มขึ้น)



สิ่งที่ผมเห็นในปัจจุบันและแน่นอนตรงกับหลายๆท่านว่า การเลี้ยงนกปัจจุบันน้ำเลี้ยงไม่ต่างกันมากแล้ว แต่ ที่ต่างกันคือ นกพันธุ์ สายพันธุ์  ก็เป็นสิ่งที่ผมเองคิดเป็นหลัก และ ตรงกับยอดเซียนอย่าง “น้าคิด สมพร-ณรงค์” ที่ได้บอกกับเพื่อนเขาซึ่งเป็นเทรนเนอร์กรงผมมาเร็วๆนี้ว่า  มันเป็นตัวแปรที่สำคัญ ที่ทำให้เกิดชัยชนะ โดยเฉพาะนกทางไกล  

ผมคิดเสมอว่าระยะใกล้ และ กลางนั้น นกสมบูรณ์ก็มาได้ไม่ยาก นกไกลก็มาได้ถ้าฟิตพอ และ ยิ่งอยู่ในทำเลที่ดี ทางนกเข้า ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่  แต่ระยะทางไกลนั้นสมบูรณ์อย่างเดียวไม่ได้ครับถ้าสายพันธุ์ไม่ถึงก็เสร็จ 

ที่พูดมาข้างต้น ก็อยากจะบอกว่า หลักการของผมในการหานกพันธุ์ผมจะมองและเน้นที่ผลงานของนกเป็นเกณฑ์ในการหานกเข้ากรงนกพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น "นกแข่งของกรงตัวเอง" และ "หานกเข้ามาจากที่อื่น"  ผลงานมาก่อนครับ ไม่ว่าจะตัวมันเอง พ่อแม่ หรือ พี่น้องต้องอ้างอิงได้  และ ผมไม่เอาอะไรที่มันห่างเกินไปมากเช่น ปู่ ย่า ตา ยาย เก่ง แต่ ลูกหลานไม่เก่ง ไม่รู้จัก ก็ไม่เอามาเข้ากรงครับ เราก็ต้องดูการถ่ายทอดยีนส์ ถ่ายทอดสายเลือดความสำเร็จของนกด้วยครับ  ผมเชื่อเสมอว่า นกที่ดี นกเก่ง ยังไงก็ต้องให้ลูกที่ดีกว่านกที่เราไม่รู้จักหัวนอนปลายตีนแน่  

หลักง่ายๆอย่างที่เคยบอกว่า นกพันธุ์ดีไม่ดีนั้นถามตัวเราเอง เดินเข้าไปกรงนั้นพันธุ์ชี้หน้ามัน ถามตัวเองว่ามันเป็นใคร พ่อแม่พี่น้องมันเป็นใคร เก่งอย่างไร ระยะไหนเก่งหรือ  (ชื่อสายพันธุ์ไม่สำคัญนะ) 


ท่านมีคำตอบไหม สำหรับนกที่ท่านเรียกว่า "นกพันธุ์" ในกรงของท่านเอง?

พบกัน ตอนหน้า ตอนที่ 3 ตอนจบ ครับ

Copyright © 2024 www.francisloft.com All right reserved.