JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0

สรรสาระ 17/12 "ทำไมนกแข่งที่เบลเยี่ยมน้อยกว่าที่เนเธอร์แลนด์ ? ถ้าอย่างนี้ นกที่เบลเยี่ยมจะสู้นกเนเธอร์แลนด์ได้หรือ? แล้วเยอรมันละ ?"

2012-09-27 10:03:30 ใน สรรสาระ » 0 3104

"ทำไมนกแข่งที่เบลเยี่ยมน้อยกว่าที่เนเธอร์แลนด์ ? ถ้าอย่างนี้ นกที่เบลเยี่ยมจะสู้นกเนเธอร์แลนด์ได้หรือ? แล้วเยอรมันละ ?"

หนึ่งในคำถามที่ผมได้รับ เป็นประจำ ก็คือจำนวนนกแข่งในแต่ละประเทศที่ไม่เท่ากัน มากน้อย แล้วเขาวัดความเก่งกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอลิมเปียด วันนี้ก็ขอนำบทความเก่าที่ผมเคยเขียนไว้ แต่ก็ปรับบางส่วนให้ทันสมัยขึ้น ก็พูดถึง ประเทศที่ถือได้ว่าเป็นเมกกะของวงการนกโลกก็ว่าได้คือเบลเยี่ยม และ เนเธอร์แลนด์ และ ติ่งไว้หน่อยที่ประเทศเยอรมัน อินทรีย์เหล็ก

ไม่แปลกใจหรอกครับ ผมเองก็เคยสงสัย และ ตั้งคำถามกับตัวเองเมื่อหลายปีก่อน เวลาที่เราเห็นรายงานผลแข่ง และ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนนกแข่งของเบลเยี่ยมแข่งกัน ทำไมมันน้อยจังแค่ไม่กี่ร้อยตัว แต่ที่เนเธอร์แลนด์ผลแข่งเห็นกันหลายๆพัน หลายหมื่นตัว ถ้าอย่างนี้นกเบลเยี่ยมก็สู้นกเนเธอร์แลนด์ไม่ได้แน่ ผมได้ถามเรื่องนี้กับเพื่อนของผมที่เบลเยี่ยม และ เยอรมันก็ได้ความตรงกันกับที่ผมได้อ่านบทความของ นายแอด ชาแลคเค่น ก็ตรงกันว่า

"เรายังไม่เข้าใจระบบการแข่งขันของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมันแตกต่างกัน นกเบลเยี่ยมสู้ได้แน่นอน"

ก็ขอนำมาเล่าสู่กันฟังว่า

จำนวนนกแข่งที่เนเธอร์แลนด์ประมาณ 6-7-8 พันตัวนั้นถือว่าเป็นเรื่อง "ปรกติ" แต่ถ้าที่เบลเยี่ยมบางที่มีสัก 400 ตัวละก็ถือว่า "ยิ่งใหญ่แล้ว" ทำไม?
เป็นเพราะ ที่เบลเยี่ยมโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละกรงเขาจะเลี้ยงนกจำนวนน้อย เพราะเขาเลี้ยงแข่งเพื่อเงินเดิมพันกัน จึงเลี้ยงไม่มากตัวนัก ซึ่งต่างจากที่ เนเธอร์แลนด์ แต่ละกรงเฉลี่ยจะเลี้ยงนกจำนวนมาก และ การแข่งขันของเขาไม่ค่อยจะนิยมเลี้ยงเพื่อเงินเดิมพันกันนัก

ที่เนเธอร์แลนด์ อย่างช่วงเดือนพฤษภาคมก่อนที่จะเริ่มแข่งระยะไกล ก็จะมีการแข่งขันระยะกลางกัน การแข่งขันที่นั่นมีวันเดียวคือวันเสาร์ ดังนั้นพวกที่เลี้ยงนกทางไกลก็จะส่งนกมาร่วมแข่งขันเพื่อเตรียมนกตัวเองเพื่อทางไกล นักเลี้ยงนกไกลจำนวนมากก็ไม่ปั้มเวลานก แต่จำนวนนกนั้นนับรวมกันหมด สมมุติว่าในคลับหนึ่งมีนักเลี้ยงนกอยู่ 30 คน เลี้ยงนกเฉลี่ยคนละ 40 ตัว ยอดนกของคลับก็จะอยู่ประมาณ 1200 ตัว โครงสร้างของการแข่งขันที่เนเธอร์แลนด์นั้นเริ่มจากการแข่งใน "Club" ก่อน และ พอหลายๆ คลับรวมกันเรียกว่า "Combine" หลายๆ "Combine" รวมกัน เรียกว่า "Federation" หลายๆ "Federation" รวมกัน ก็จะเป็น "Afdelingen".

Combine นั้นอาจจะมีไม่กี่คลับ หรือมากกว่า ไปจนถึง 8-9 คลับก็ได้ และ ทำนองเดียวกันกับ Federation ก็เช่นกันอาจจะมีไม่กี่ Combine หรือ หลายๆ Combine ก็ได้

มาถึงตรงนี้ก็คงทำให้หลายๆ ท่านพอเข้าใจโครงสร้างกันบ้าง อย่าลืมว่าเขาเลี้ยงแข่งกันไม่ค่อยจะมีเงินรางวัล ถึงมีก็น้อยมากๆ แต่จำนวนนกลองนึกภาพดูว่ามากขนาดไหน



พอมาที่เบลเยี่ยม มาดูกันว่าโครงสร้างการจัดการแข่งขันเขาต่างจากเนเธอร์แลนด์อย่างไร อย่างช่วงเดือนพฤษภาคม ก็จะมีการแข่งขันระยะกลางกันวันเดียวคือวันเสาร์ แต่เบลเยี่ยมเขาก็จะมีการจัดการแข่งขันระยะสั้นอีก 2 จุด ในวันอาทิตย์ ในสุดสัปดาห์นั้นเช่นกัน หลายท่านคิดตามนะครับ รวมแล้วเป็นทั้งหมดกี่การแข่งขันครับ หลายท่านคงตอบว่า "3 ครั้ง" ผิดครับ ที่จริงแล้วคำตอบคือ "6 ครั้ง" ครับ เขาแบ่งการแข่งขันของอายุนกแต่ละกลุ่มออกจากกันโดยเด็ดขาดครับ เขาแยก นกรุ่นอายุ 1 ขวบที่เรียกกันว่า Yearling กับ นกแก่ Old bird ออกจากกัน นักเลี้ยงนกเนเธอร์แลนด์ที่กรงหนึ่งมีนก 40 ตัว ก็ไม่มีทางเลือกก็ต้องส่งไปที่เดียวกันหมด แต่สำหรับนักเลี้ยงนกที่เบลเยี่ยมเขากลับมีโอกาสเลือก และ แยกนกในกรงออกไปแข่งได้มากถึง 6 การแข่งขัน

อีกอย่างที่ต่างกันคือที่ เนเธอร์แลนด์ นั้น บ้านอยู่ตรงไหนก็แข่งกับคลับนั้น แต่ที่เบลเยี่ยมนั้นอิสระ ตามสบายอยากแข่งคลับไหนก็ไป อย่างเช่นจุดแข่งจุดหนึ่ง คนเบลเยี่ยมมีนกแข่งอยู่ 6 ตัว เขาสามารถแยกนกออกเป็น 2 ทีม และ แยกแข่ง 2 combine ก็ได้แม้จะเป็นการแข่งขันจุดเดียวกัน หรือ เขาสามารถแยกนก 6 ตัวออกเป็น 2 ทีมและส่งเข้าไปแข่ง 2 ที่ 2 จุดการแข่งขันก็ได้ จะเห็นได้ว่านักเลี้ยงนกที่นั่นมีโอกาสเลือกแข่งได้อิสระมากๆ และ นกที่ส่งแข่งก็ยังเลือก Nominated คือ เลือก ตัวเต็ง1 เต็ง2 เสียค่าแข่ง ค่ารายการ หรือ เล่นชิงเงินรางวัล ตัวไหนไม่ระบุก็แข่งแบบเอาไปซ้อมไม่มี ผลการแข่งขัน ไม่มีรางวัล เสียค่าซ้อมถูกหน่อย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าที่เบลเยี่ยมนั้นนกที่ Nominated แล้วมานั้นเจ้าของมั่นใจในสายเลือด และ ผลงานที่ผ่านมามากๆ ว่ามันเจ๋ง โดยเฉพาะในระยะไหนที่หวังผลละก็มีโอกาสแข่งซ้ำไป ซ้ำมาได้ เดี๋ยวไปคลับนั้นที คลับนี้ที เดินสายล่ารางวัล และ ผลงานกัน

ดังนั้นถ้ามองที่ผลการแข่งขันจะเห็นได้ว่า นักเลี้ยงนกเบลเยี่ยม "น้อยรายนัก" ที่จะส่งนก ประมาณ 10 ตัว หรือ มากกว่า 10 ตัว ส่วนมากส่งนกแข่งน้อยกว่า 10 ตัว แต่ที่เนเธอร์แลนด์กลับกัน "น้อยรายนัก" ที่ส่งนกน้อยกว่า 20 ตัว คงเห็นภาพกันบ้างนะครับ



ดังนั้นที่เบลเยี่ยมถ้านักเลี้ยงคนหนึ่งเลือกที่จะอยู่คลับที่มีการแข่งขันสูง คนเก่งเยอะ ก็อาจจะชนะยาก แต่ถ้าชนะได้ก็ดังมากเช่นกัน ที่ 10 ของคลับนี้ อาจจะเร็วกว่า ที่ 1 ของอีกคลับก็ได้แม้จะแข่งจุดเดียวกัน

ดังนั้นเราจะเอาจำนวนนกแข่งของ 2 ประเทศนี้มาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะโครงสร้างที่ต่างกัน ที่เนเธอร์แลนด์ นักเลี้ยงนก 5 คน อาจจะส่งนกรวมกันได้ 700 ตัว แต่ที่ เบลเยี่ยม นก 400 ตัว อาจจะมาจากนักเลี้ยงนก 170 คนก็ได้ อย่าลืมว่าที่เบลเยี่ยมเขาเลี้ยงเพื่อเงินกัน ดังนั้น นกน้อยตัวแต่เขี้ยวกว่ากันเยอะ คน 5 คน กับ คน 170 คนมันคนละเรื่องกันนะครับ

คิดง่ายๆ ถ้านกเบลเยี่ยมไม่ดี คิดหรือว่าคนอย่าง Gerrard Koopman จะไปซื้อนกของ Van Hove Utterhoven , Dirk & Louis van Dyck นกเก่งของเขาก็มีพื้นฐานมาจากเบลเยี่ยมนี่ละครับ หรือ แม้แต่ยอดเซียนของ เนเธอร์แลนด์ อย่าง Kees Bosua ที่ชนะการแข่งขัน ที่ 1 และ ที่ 2 นก 120,000 ตัว จากจุด Le Mans นกของเขาก็มาจาก เบลเยี่ยม เช่น สาย Figo ของ Anton & Hilde Reynaert ของเบลเยี่ยม ที่ชนะที่ 1 จำนวน 100 กว่าตัว เหล่านี้ละครับ

คิดว่าหลายๆ ท่านคงเห็นภาพ และ ตามกันทัน ดังนั้นเวลาเห็นภาพนก เพดดีกรี หรือ นกตัวเก่งๆ ของเบลเยี่ยมก็อย่าไปดูถูก หรือ มองข้ามนะครับ

การแข่งขันนี้ก็ยังต่างไปจากประเทศ เยอรมัน ซึ่งการแข่งขันนับนกเก่งนั้นเรียกได้ชัดๆว่า หินกว่าเบลเยี่ยมและเนเธอร์แลนด์ ที่นั่นนกเก่งต้องเก่งตลอดสาย เก่งเฉพาะจุดเขาไม่สน และ ไม่ถือเป็นนกเก่ง ดังนั้นการจะเก่งที่เยอรมันนั้นเรียกได้ว่านกต้องหินมากๆ ตลอดการแข่งขัน 13-14 สัปดาห์จาก 100 - 700 กม. จากนั้นแต่ละคลับก็จะมีนกเก่งของคลับตนเอง และ วัดกันไปถึงระดับจังหวัด และ วงก็ขยายไประดับหลายๆจังหวัด จนถึงระดับประเทศ ที่นั่นแต่ละคลับก็ส่งนกเก่งของตนเอง เช็คประวัติการแข่งขัน ส่งผลรวมของนกที่ส่งเข้าร่วมชิงชัยนกยอดเยี่ยมให้กับสมาพันธ์นกพิราบแข่งของประเทศเยอรมัน (DVB) ตัดสินความเก่ง ซึ่งหลักๆก็ จำนวนครั้งที่ติดในแต่ละจุด อันดับ จำนวนนก ระยะทาง ซึ่งทั้งประเทศมีนกเก่งๆมาวางกันหลายร้อยตัว จากยอดห่วงที่ขายเฉลี่ยในแต่ละปีก็2-3ล้านห่วง



( Blauwe Blitz ยอดนกอีกตัวของเยอรมัน ถึงแม้ดีกรีจะเป็นที่ 2 นกยอดเยี่ยมของประเทศเยอรมัน แต่ผลงานที่มันสร้างไว้นั้นสุดยอด และ เป็นตัวแทนของเยอรมันเข้าโอลิมเปียด ที่ South Africa 2001  ผู้เขียนเองก็ได้สั่งลูกของนกตัวนี้มาเล่น และ มันก็ให้ผลดีทั้งชั้นลูก หลาน)

ไอ้ตัวที่เป็น นกยอดเยี่ยม ของเยอรมันแต่ละปีนั้นสุดยอดมากๆ นกทั้งหมดก็โปร่งใสเป็นธรรมเนียมนำมาโชว์ให้สาธารณชนคนเลี้ยงนกได้ชมกันทุกปี นกสวยมากครับ ทุกปีเมื่อก่อนก็จะสลับกันที่เมือง Essen กับ Dortmund สลับกันจัดคนละปี แต่ช่วงหลังก็จัดกันที่เมือง Dortmund ที่เดียว เป็นเพราะค่าเช่าหอประชุมใหญ่เมือง Essen ขึ้นค่าเช่านั่งเอง

นี่ก็เป็นอะไรที่มาเล่าสู่กันฟังเป็นสาระเล็กๆน้อยๆครับ ระบบ และ วัฒนธรรมการจัดการแข่งขันนั้นต่างกัน ดังนั้นเราจะยึดบ้านเราเป็นมาตราฐานยิ่งไม่ได้ ต่างชาติที่ยุโรปแข่งนกันเป็นศตวรรษยังต่างกันเลยครับ...สวัสดี

 

กรุณาเข้า สู่ระบบ ก่อนทำการเขียนข้อความ
Copyright © 2024 www.francisloft.com All right reserved.