JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0

RUAMCHAI LOFT กรงรวมชัย ... เสี่ยไข่ - ยศพงศ์

2019-07-13 13:27:31 ใน นักเลี้ยงนก & สายพันธุ์ » 0 4767



RUAMCHAI  LOFT


การเริ่มต้นของ ราชสีห์หนุ่มแห่งนครปฐม...กรงรวมชัย


"เสี่ยไข่ - ยศพงศ์  จารุศิริพิพัฒน์ "


สวัสดีครับ  เยี่ยมกรงนกวันนี้ ผมเชื่อว่าหลายๆท่านคงได้ยินชื่อของชายคนนี้ และ ผลงานนกพิราบแข่งของเขาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนเชื่อว่าทุกท่านอยากที่จะรู้จักกันว่าเขาเป็นใคร?  

ทำไมหลายปีมานี้คนเลี้ยงนกถึงได้พูดถึงชื่อเขากันมาก? (ในทางที่ดีนะครับ)  เรามาทำความรู้จักเขาและนกพิราบแข่งของเขากัน  



ครับผม เรากำลังพูดถึง “ เสี่ยไข่ ” ชายผู้แสนดีของวงการนกพิราบแข่ง

เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อนที่รักใคร่ของทุกคนที่ได้รู้จักเขา   

เป็นคนที่มีจิตใจดี สุภาพ ใจเย็น พูดจาเรียบร้อย เป็นกันเอง และ เป็นผู้ที่เสียสละให้กับวงการนกพิราบแข่งนครปฐมมาก


หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ "เสี่ยไข่"  ก็คือ ประธานจัดการแข่งขันของชมรมนกพิราบแข่งจังหวัดนครปฐม

ซึ่งปัจจุบัน เรียกกันได้เต็มปากว่า พัฒนาได้เร็ว ทั้งตัวชมรมเอง การแข่งขัน ระบบการบริหารจัดการ และ ที่สำคัญ

สมาชิกได้พัฒนาทั้งเทคนิค ความรู้เรื่องนก สายพันธุ์ ต้องยอมรับครับว่าโตขึ้นเร็วมากๆ  



 

ก็ขออนุญาตเริ่มสัมภาษณ์กันนะครับ

สวัสดีครับเสี่ยไข่ วันนี้ต้องขอขอบพระคุณนะครับที่ให้เราได้มีโอกาส พูดคุย สัมภาษณ์

ถ่ายรูปกรงนก และ อนุญาตให้เราได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับเสี่ยไข่และนกพิราบแข่ง มุมคิด

รวมถึงวิธีการ การบริหารจัดการ ให้เพื่อนๆได้รู้จักกัน ก็ขอเริ่มนะครับ 


1. รบกวนเสี่ยไข่ ช่วยแนะนำตัวเอง และ ปัจจุบันประกอบอาชีพค้าขายอะไรครับ?

ผมชื่อ  ยศพงศ์  จารุศิริพิพัฒน์  อายุ  51  ปี 

ตำแหน่ง  กรรมการบริษัท รวมชัยมัลติเทรด  จำกัด 

จำหน่ายวัตถุดิบอาหารสัตว์  เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพด ปลายข้าว รำละเอียด

ลูกค้าของบริษัทหลักๆ ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์  เครือเบทาโก  คาร์กิลล์  ลีพัฒนา





 2. เริ่มรู้จักนกพิราบแข่งตั้งแต่เมื่อไรครับ?
 
ผมเริ่มรู้จักนกพิราบแข่ง เมื่อปี พ.ศ. 2529  ก็เริ่มจากการได้ไปดูเพื่อนบ้านแข่งอยู่ประมาณ 1 ปี


3. แล้วในอดีตเสี่ยไข่ได้เลี้ยงนกแข่งบ้างไหมครับ?

ในอดีตผมไม่เคยมีนกแข่ง และไม่เคยเลี้ยง เพราะ ไม่มีเวลาครับ


4.  แล้วกลับมาเลี้ยงนกแข่งได้ยังไงครับ จุดที่ดึงให้เสี่ยไข่สนใจและกลับมาเลี้ยงนกแบบจริงจังขึ้นมาครับ?

ผมกลับมาสนใจเลี้ยงนกพิราบแข่ง เมื่อปี 2015 (สายใต้) เพราะไปดูเพื่อนแข่งแล้วเขาไม่ประสบความสำเร็จ

จึงอยากลองเลี้ยงดูบ้าง มันเป็นอะไรที่ท้าทายนะ ซึ่งผมเองก็ไม่เคยเลี้ยงมาก่อนเลย

แรกๆ ก็สับสนเหมือนกัน ก็ได้รุ่นพี่นักเลี้ยงในกรุงเทพช่วยชี้แนะให้ 
                                                                 


5.  ปัจจุบันเสี่ยไข่มีกรงนกอยู่ที่ไหนบ้างครับ  นอกจากนครปฐม ได้ข่าวว่าล่าสุดซื้อบ้านที่กรุงเทพ เพื่อแข่งนกโดยเฉพาะ?

ปัจจุบันผมมีกรงนกอยู่ 3 แห่ง คือ
 
1. ที่บริษัทกับบ้านอยู่ที่เดียวกัน ทั้งกรงนกแข่งและ นกพันธุ์  (นครปฐม)

2. กรงอินเตอร์นครปฐม (โพรงมะเดื่อ)

3. ที่สะแกงาม บางขุนเทียน กรุงเทพ 

กรงที่บ้าน นกแข่งก็จะอยู่ลานจอดรถที่กว้างขวางมากๆ มี 2 กรง แยกกันคนละฝั่ง เป็นกรงเหนือ และ กรงใต้  ทั้ง 2 กรงสร้างเหมือนกัน 



ภายในกรงนกแข่งจะแยกกรงออกเป็นเพศผู้และเมีย และ นกจะมีตู้นอนของแต่ละตัว  อากาศภายในกรงโปร่ง ลมถ่ายเทได้ดีมากๆ พื้นเป็นตระแกรง 



ต่อมาก็เป็นกรงอินเตอร์นครปฐมตั้งอยู่ที่ซอยวัดโพรงมะเดื่อ นครปฐม เป็นกรงที่ใหญ่มาก สร้างได้ดี แบ่งออกเป็นซ้ายขวาประมาณ 8 ห้อง

กรงรับนกต่างหาก บรรจุนกได้มากถึง 500 ตัวสบายๆ 



ภายในกรงอินเตอร์จะโปร่งโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดีมากๆ  และ พวกเรา Francis Loft Team ก็ได้ไปเยี่ยมกรงนี้ครับ 



เรามาชมกรงต่อไป เป็นกรงใหม่เอี่ยมตั้งอยู่ที่ สะแกงาม กรุงเทพ ซึ่งเป็นดงของเซียนนกอยู่หลายๆกรง  ซึ่งท้าทายมากๆครับ

สำหรับเสี่ยไข่ ที่เปิดกรงรวมชัย ที่นี่เพื่อทดลองการแข่งขันกับนักเลี้ยงนกกรุงเทพ หาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาชมรมนครปฐม


กรงนกสร้างได้สวยมากๆ บ้านเพิ่งจะสร้างเสร็จ ก็สร้างกรงนกทันทีเพื่อให้ทันแข่งสายเหนือ 2019  กรงนกแบ่งออกเป็น 2 ชั้น 

ชั้นบน เป็นกรงรับนก กรงล่อคู่นก และ มีห้องเฝ้านกที่ใหญ่ สะดวกสบายสำหรับ วันเฝ้านก

ชั้นล่าง เป็นกรงนกแข่งแบ่งออกเป็น 4 กรง  นกจะบินลงจากชั้นบนลงกรงล่าง ง่ายๆครับ 



ฝีมือการสร้างกรงโดยพี่ สถาพร โกมลสิงห์ นครปฐม ครับ  คนเดียวกับที่สร้างกรงนกพันธุ์ที่สวยงามที่บ้านผมที่พันท้าย พระราม2

เราจะเห็นด้านซ้ายมือของกรงจะมีรอกสำหรับขนตระกร้าและของขึ้นลง สะดวกมากสำหรับคนเลี้ยงนก



นกที่นี่มีตู้นอนมากมาย เหลือเฟือสำหรับนกทุกตัว   ฝีมือการทำตู้โดย พี่โจ้ Power Three

ที่เราเห็นเป็นกล่องนี่ละครับ นกจะลงเข้าไปในกล่องเพื่อบินลงไปที่กรงนกแข่งด้านล่าง


ที่ครอบนกใช้ตอนลูกนกเล็กๆ  ส่วนห้องที่อยู่ด้านหลังคุณปีเตอร์และคุณกิ่งพระ คือ ห้องสำหรับเฝ้านกแข่ง 



พลาดไม่ได้ครับ กลุ่ม Francis Loft Team ก็ขอเยี่ยมกรงใหม่ของเสี่ยไข่กัน


                       

6. ขอเรียนถามเกี่ยวกับนกพันธุ์   จุดเริ่มต้น พื้นฐานนกพันธุ์มาจากไหนครับ?

นกพันธ์แรกเริ่ม คุณเพิ่มศักดิ์  สิงห์สมบูรณ์  ได้แบ่งปันมาให้  40  ตัว  และ

คุณเกรียงศักดิ์  ปรีดีพร้อมพันธ์ (ต้าโหย่ว) 40 ตัว เช่นกัน

ต่อมาก็ได้ พี่โจ  ชัชปภพ ฟาร์ม  จาก FRANCIS LOFT  และสุดท้ายก็คุณ TOMMY



7. ปัจจุบันหลักเกณฑ์ในการหานกมาทำพันธุ์ พี่คัดเลือกยังไง เน้นอะไรเป็นพิเศษครับ?

หลักเกณฑ์ในการหานกพันธ์  ผมค่อนข้างจะ “ เลือกมากเป็นพิเศษ” ถ้าไม่ถูกใจจะไม่นำมาเข้าคู่เลย  

อันดับแรก : สายเลือดนกพันธ์ดูจากประวัติผลงาน ใบเพดดีกรี

ถ้าเป็นนกแข่งสายใต้ ก็จะต้องกลับจาก ภูเก็ต ภายในวันเดียว  

ส่วนสายเหนือจะชอบนกบิน ACE PIGEON  นกยอดเยี่ยม มากกว่า

ถ้านกกลับจากเชียงรายไม่ได้ภายในวันเดียว ส่วนใหญ่ก็จะไม่นำมาทำพันธ์

อันดับสอง : จะเน้นที่สรีระของนก เชื่อว่าแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน  

ส่วนตัวผมเองชอบนกที่มีหน้าอกกว้างๆ ขั้วปีกแข็งแรง ตะเกียบต้องแข็งและชิด 

นกพันธุ์ต้องจับเข้ามือ (ชอบขนาดกลาง) และถ้าจับแล้วไม่นิ่ง ดิ้นไปมาก็ใช้ไม่ได้

และสุดท้าย ผมชอบท้ายนกที่หนาแข็งแกร่ง 



หนึ่งตัวอย่างที่เสี่ยไข่พูดถึง

Miss Ace Pigeon นกยอดเยี่ยมอันดับที่ 1 ของ Francis Loft ก็ได้ย้ายบ้านมาอยู่ที่ กรงรวมชัย

นกตัวนี้เป็นคู่ไข่กับ Miss Pattaya ยอดนกถ้วยพระราชทานของการแข่งขันนานาชาติ ใบแรก ปีแรกที่จัด 2016










เรามาชมกรงนกพันธุ์ของเสี่ยไข่กันครับ  ปัจจุบันมีนกประมาณ 400 ตัว  ที่มีมากก็อย่างที่

ได้กล่าวไว้ข้างต้น เพราะ เพาะนกแต่ละสายมาก ซึ่งแข่งทั้งในนครปฐม กรุงเทพ ฝากกรงอินเตอร์ 

และ ส่งนานาชาติ One Loft Race 



กรงเพาะนก แยกออกเป็นกรงต่างหาก ใหญ่มากๆ สะอาดมากๆครับ 



8.  แล้วการให้อาหาร และ นกพันธุ์ เสี่ยไข่ให้อย่างไรครับ ?        
                                                                                                              

การให้อาหารนกพันธุ์  

ช่วงไม่เข้าคู่ ส่วนใหญ่ก็เป็น ข้าวโพดกับข้าวเปลือก และ

ช่วงก่อนเข้าคู่ ก็จะเป็น ถั่วอบกับถั่วแขก เพื่อให้นกสมบูรณ์เต็มที่


ถั่วอบคือถั่วเหลืองที่นำมานึ่ง มีขายสำเร็จรูปครับ ยี่ห้อ TVO ของบริษัทน้ำมันพืชไทย

ปรกติพวกนี้ใช้ในอาหารลูกหมู ทำให้โตเร็ว ขนมันเงา สวยงามครับ

คุณค่าทางโภชนการดีกว่าถั่วแขกมาก 


เชื่อไหมว่าตั้งแต่ที่ผมใช้สูตรนี้ลูกนกผมโดยเฉลี่ยอายุ 17 วันก็เดินมากินอาหารเองได้ แข็งแกร่ง ตัวล่ำสัน ขนเงางามดีครับ



การให้ยา

ก็ใช้ Baytril สำหรับตัดโรค เป็นยาตัดลำไส้ และป้องกันพวก พาราไทฟอยด์  ให้ 3 วัน   


จากนั้นก็ให้ยาป้องกันรักษาพวกเกี่ยวกับหลอดลมผมให้ 3 วันก็ให้ OrniSpecial


ยาป้องกันแคงเกอร์อีก 3 วัน ผมใช้ซัลท็อป 



จากนั้นเสร็จเรียบร้อยก็จะถ่ายพยาธิ   

ถ้าป้องกันรักษาการติดโรคทั่วไปบางครั้งก็มีให้ Pharmocin



หลังจากการให้ยาตัดโรคต่างๆครบแล้ว จากนั้น 1 สัปดาห์ก็จะเริ่มเข้าคู่  

ก่อนเข้าคู่จะมีวิตามินอยู่ 2 อย่าง ที่ให้ที่สำคัญคือ ใช้วิตามินที่ทำให้นกคึก  

ที่กรงถ้าจับนกเข้าคู่แล้วนกไม่ยอมไม่เข้ากันได้ทันทีเลย ก็จะจับแยกออกโดยไม่รอ

ที่สำคัญจะไม่ให้แคลเซียมลูกนกเลย จนกว่าจะอายุครบ 100 วัน     
 
    

 9.  ขอทราบหลักเกณฑ์ในการเข้าคู่นกสำหรับทำพันธุ์ครับ?      

หลักเกณฑ์ในการเข้าคู่นกที่เก็บทำพันธุ์  ปรกติผมจะเน้นเลือกจากนกที่มีผลงานดีมาแล้ว และ

ถ้าเป็นนกนอกผมก็ดูจากสายเลือดที่ผมเคยสำเร็จ มีผลงานที่ดี และ

เปิดโอกาสให้ตัวเองลองพวกนกที่มีผลงานที่ดีในสายเลือดอื่นเช่นกัน ไม่ปิดกั้นครับ



10. ขอทราบหลักเกณฑ์ในการเข้าคู่นกสำหรับแข่งครับ?  
 
 
การเข้าคู่นกแข่ง ก็ดูจากสายเลือด สรีระของนก และผลงานที่ผ่านมา

ส่วนใหญ่ผมจะมีแต่นก ระยะ 300 -650 กม.

ที่กรงจะมีปัญหากับจุดเชียงราย และแม่สาย ซึ่งกำลังแก้ไขโดยสั่งนกพันธุ์ทางไกล มาลองผ่าใหม่

คงต้องใช้เวลาประมาณ 2- 3 ปี  
 

 
11. ปัจจุบันเสี่ยไข่ ส่งนกเข้าแข่งทั้งที่นครปฐม และ กรุงเทพ ใช่ไหมครับ?


ผมแข่งนกก็แข่งทั้งนครปฐมและกรุงเทพ

นครปฐมที่บ้านสายเหนือประมาณ  100  ตัว  และ  สายใต้ก็ประมาณ 100  ตัว 

ส่วนที่ กรุงเทพ ก็เป็นกรงที่สร้างใหม่ที่ สะแกงาม แข่งเฉพาะสายเหนือ ที่จะถึงนี้ก็จะเป็นปีแรก ก็มีนกประมาณ 190  ตัว

นอกนั้นผมก็มีเพาะในไปฝากกรงอื่นๆ ที่กรุงเทพอีก สายละประมาณ 50 - 100 ตัว  

ผมเองก็มีส่งนกเข้าร่วมแข่งขันนานาชาติแบบ One loft race ที่เมืองไทยจัดด้วยครับ 

                

การให้อาหาร และ ยา นกแข่ง

12. อยากทราบสูตรยา และ การให้อาหารนกแข่งของเสี่ยไข่ รบกวนขอแบบละเอียดหน่อยครับ

เพราะทราบว่าเสี่ยไข่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารสัตว์ ธัญพืช ย่อมมีความรู้ลึกซึ้งดีครับ?


ผมเป็นนักเลี้ยงใหม่ ไม่อยากตอบเลยข้อนี้ กลัวถูกหัวเราะ 555 

ส่วนตัวแล้วสูตรอาหารก็มีส่วนอย่างมากเลยทีเดียว

ช่วงที่เป็นลูกนกก็จะใช้ ถั่วแขก+ถั่วอบ ตั้งตลอดทั้งวัน จนนกถ่ายขนเสร็จแล้ว จึงผสมอาหารให้

นกช่วงเริ่มบิน - ช่วงซ้อม - ช่วงแข่งระยะไกล้ จะใช้สูตรโปรตีน 60% คาร์โบไฮเดรต 40% 

พอแข่งระยะกลาง ก็จะใช้ โปรตีน 50 % คาร์โบไฮเดรต 50% 

ระยะไกล  3  ป้ายสุดท้าย โปรตีน 40%  คาร์โบไฮเดรต 60 % ก็คือ เพิ่มข้าวโพด ลดถั่วแขกลง

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า  
“แค่โปรยข้าวก็รู้แล้วว่า จะแพ้หรือชนะ”  ซึ่งผมเชื่อว่าจริงครับ  
 

 
12. รบกวนเสี่ยไข่ ช่วยอธิบายถึงการให้ยานกแข่งหน่อยครับ?


การให้ยาป้องกันโรคนกส่วนใหญ่ ถ้ายังไม่แข่ง ก็จะมีแต่ ยาตัดลำไส้ กับ หลอดลม

นอกจากนั้นจะใช้แคลเซียมกับวิตามิน 2 -3 อย่าง   

ช่วงแข่งปรกติผมจะเพิ่มให้นกแข่งกิน Winner เม็ดลาย เพื่อไล่เลือดลม

ส่วนมากผมจะให้วันจันทร์ตอนเย็นเพื่อให้นกคึก สดชื่นขึ้นครับ  



อีกตัวก็เป็นตัวแคลเซียมวิตามินรวม “Biochemical Phoporic acid Calcium”

ในระยะเริ่มแข่งผมให้วันพุธ กับ วันอาทิตย์ตอนเย็น 

แต่พอออกระยะเริ่มไกลหน่อยก็จะให้วันพุธถึงวันศุกร์ตอนเย็นวันละ 1 เม็ด และ วันอาทิตย์ให้อีก  1 เม็ด  


ในวันที่นกแข่งกลับมาผมให้แบนเนอร์ โปรตีน 1 แคปซูลต่อตัว และ แคลเซี่ยม Biochemical 1 เม็ด 

เช้าวันจันทร์นกก็ฟื้นคืนสภาพกลับมาดีขั้นแบบเห็นได้ชัดครับ 




 
13. การซ้อมนกแข่ง เสี่ยไข่ ซ้อมอย่างไรครับ?


การซ้อมนก จะซ้อมอยู่ 3 วัน คือ อังคาร พุธ พฤหัส

อังคาร - พุธ บินประมาณ 1 ชั่วโมง

พฤหัส บินประมาณ 1.50 ชัวโมง

ที่กรงซ้อมเองครับ  ซ้อมกลับจากวันอังคารและพุธ บ่ายสามก็ปล่อยบินที่บ้านต่อ 40 -60 นาที

ส่วนวันพฤหัสไม่ได้ปล่อยบิน  และ จะปล่อยบินอีกครั้งก็เช้าวันศุกร์

ถ้าในกรณีวันแข่งนกกลับไม่ตรงเวลา ก็จะเลื่อนซ้อมเป็นวันพุธแทน ส่วนวันพฤหัสก็เหมือนเดิม และ วันศุกร์บินประมาณ 40 นาที     

                             

14. ขอทราบผลงานที่ประทับใจของกรงเสี่ยไข่หน่อยครับ?

ผลงานโดยรวมที่นครปฐม  ที่โดดเด่น และ ประทับใจมาก ก็คือ ปี 2015 สายใต้ ซึ่งเป็นปีแรกที่เลี้ยง

กรงเราสามารถได้รางวัลชนะเลิศที่ 1 ถึง 6 จุดติดต่อกัน

ตั้งแต่ชุมพร หลังสวน ท่าชนะ สุราษฎร์ พังงา ภูเก็ต เป็นความทรงจำที่มีความสุขมาก

ตอนนี้เลี้ยงมา 3 ปีกว่า มีถ้วยรางวัลชนะเลิศ 30 กว่าใบ  

ได้รางวัลนกยอดเยี่ยม ACE PIGEON สายเหนือปี 2015 และ 2016   
ที่ 2 ACE PIGEON สายเหนือ 2017






ส่วนในกรุงเทพ ปีนี้ก็ส่งสายอีสานเป็นครั้งแรก ดีใจมากๆ ที่นกเราก็สามารถสร้างชื่อเสียง

ความประทับใจ พร้อม กินห่วง กุ๊ เที้ยง และ หมู มามากมายพอควร 

เราสามารถ ชนะ ชนะเลิศ

ที่ 1 จุด อ.พล กับ ที่ 1  บ้านไผ่

ของสมาคมส่งเสริม โดยเป็นนกตัวเดียวกัน คือ เจ้า


MO FARAH  
C18-72625


พอชนะถ้วยที่ 1 ถึง 2 ครั้ง ติดต่อกันก็เก็บเข้ากรงนกพันธุ์ทันที 

ถ้วยรางวัลที่1ทั้ง 2 ใบที่เจ้า Mo Farah ชนะ


พ่อของ MO FARAH คือ THE LAST BERTUS เป็นนกที่ได้มาจากกรง FRANCIS LOFT

ให้ลูกดีมากๆ เป็นนกของยอดเซียน Bertie Camphuis 

พื้นฐานก็เป็นพวกKlak เป็นหลัก และ มี Koopman สาย Dirky (Kleine Dirk) ของ Peter Veenstra ปนอยู่บ้าง



แม่ของเจ้า MO FARAH เกิดจากการนำนกของเฮียต้าโหย่ว ผสมกับเจ้า BLUE DIAMOND Z ของ FRANCIS LOFT

เป็นนกสายพันธุ์ G&S Verkerk กับ Figo ของ A&H Reynaert 




15. การแข่งนก อะไรเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเสี่ยไข่ครับ?

การแข่งนกอะไรเป็นเรื่องสำคัญ ผมว่าสำคัญหมดทุกเรื่องนะ 

การเลือกพ่อพันธ์ แม่พันธ์ ผิดก็มีสิทธิ์แพ้แล้วครับ

การให้อาหารและยาก็สำคัญเพราะฉะนั้นควรจะดูแลอย่างไรให้นกกินได้ บินได้ ให้สมบูรณ์ที่สุด

ผมเชื่อเสมอว่า
"นกที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้น ที่จะเป็นผู้ชนะ"       


16.  ได้ข่าวว่า เสี่ยไข่ ได้ซื้อบ้านใหม่เอี่ยมเพื่อเลี้ยงนกแข่งโดยเฉพาะ และ

สร้างกรงนกที่สวยงามมากๆที่กรุงเทพ อยู่ที่ไหนครับ?  


และ ทำไมถึงคิดที่จะมาแข่งที่กรุงเทพครับ?


กรงอยู่ที่สะแกงามครับ  

ที่ผมไปสร้างเพราะอยากจะรู้จักนักเลี้ยงในกรุงเทพให้มากขึ้น

จะได้ศึกษาระบบการทำงานของแต่ละสมาคมในกรุงเทพ เพื่อมาพัฒนาชมรมนครปฐม และ

ที่ทำสัญอีกอย่างคือ ผมอยากทดสอบการเลี้ยงว่าจะสู้กับทางกรุงเทพได้หรือไม่
 
โดยปกติสายเหนือนครปฐม ทางเข้านกสู้ได้ ถ้านกไม่สะดุด ก็จะมีผลงานที่ค่อนข้างดี

สามารถคว้าถ้วยรางวัลมาได้ตลอดจึงเป็นอะไรที่ท้าทายมาก สำหรับการแข่งขันในกรุงเทพ      



      

17. อยากที่จะให้เสี่ยไข่ช่วยให้คำแนะนำ คนที่เลี้ยงนกใหม่ เป็นแนวทาง เป็นแง่คิดดีๆหน่อยครับ?

สำหรับนักเลี้ยงนกใหม่ ผมแนะนำว่า

1. ต้องศึกษาเรื่องสายพันธุ์ก่อน ว่าอะไรดี ของใครดี ดีสายไหน ระยะไหน ผลงานสม่ำเสมอไหม 

2. หาพี่เลี้ยง MENTOR ที่คิดว่า คนนี้ใช่  คือ เปิดเผย จริงใจ  มีผลงาน แต่ส่วนมากจะหายากนะ

3.ได้อะไรมาให้ทดลองเก็บแต่ส่วนดีของแต่ละบุคคลไปใช้ ส่วนไหนที่ใช้แล้วไม่ได้ผล ก็ให้ลืมไป  ไม่มีใครสมบูรณ์ไปหมด

4. อย่าพูดคำว่า "รู้แล้ว"  ถ้าพูดคำนี้เมื่อไรก็จะไม่มีใครยอมบอกอะไรดีดีให้เราฟัง    


Eric Bergmore เด็กหนุ่มฝากตัวเป็นลูกศิษย์ได้เรียนรู้จากยอดเซียน Albert Marcelis และ

ช่วย Albert เลี้ยงนกอยู่หลายปี จนร่วมกันปั้นยอดนกอย่างเจ้า Sprint คว้าแชมป์ Olympiade



ตัวเสี่ยไข่เองก็หาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนกพิราบอยู่ตลอด และ หนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้ผมและเสี่ยไข่ได้พบกันก็คือ 

งานพบปะกันของกลุ่มเพื่อน Francis Loft ครั้งที่ 1 

เสี่ยไข่มักบอกกับผมตลอดว่า เขาได้ความรู้เพิ่มเติมหลายอย่าง จากการที่ได้ร่วมงานในครั้งนั้น



ใครรู้ไหมครับว่าเสี่ยๆไข่อยู่ตรงไหนครับ?




       

18. เสี่ยไข่ประทับใจอะไรในนกพิราบแข่งครับ?

ประทับใจอะไรกับนกพิราบแข่ง ส่วนตัวผมคือ เวลาเห็นนกได้บินเล่นหน้าบ้าน คือ "ความสุข"

อย่างน้อยก็เป็นเพื่อนเรา ยามที่เราท้อ   หรือ เจอปัญหาหนัก ได้เห็นเขาบินก็ผ่อนคลายลงไปได้มาก

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ นกพิราบแข่ง ต่อให้ตัวเองเก่งขนาดไหน ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า

จะให้ลูกเก่งเหมือนตัวเอง นี่คือ
ความท้าทายของนกพิราบแข่ง (ไม่มีผู้ชนะที่ถาวร)     




คำถามพิเศษเพิ่มเติม

เสียไข่ใช้วิธีการดูนกว่าฟิตหรือไม่ฟิตพร้อมแข่งยังไงครับ? และ อะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจคัดนกเพื่อเล่นกุ๊ครับ?

อันดับแรก  ผมจะดูจากผลงานจากประวัติที่เคยบิน ถ้าเป็นนกใหม่ก็ดูจากใบเพดดีกรี

ประวัติที่บันทึกของตระกูล ว่าระยะไหนที่เค้าบินดีมีผลงานดี


อันดับสอง ดูจากน้ำหนักนก ว่าระยะไหนควรทำน้ำหนักตัวนกอย่างไร ก็คือ สูตรอาหารที่ใช้

อันดับสาม ดูจากสภาพความฟิตของนก เช่น เนื้อที่ใต้ท้องเต็มสมบรูณ์ ดวงตาต้องวาวสู้ ใบปีกมีแป้งจับดี

อันดับสุดท้ายคือ สถิติผลงานของตัวนก ว่ามาจ่อระยะของเขาหรือยัง

น้อยมากที่นกจะบิน ครั้งเดียวแล้วได้ถ้วยเลย
"การพนันกินคนดื้อครับ"



...........................................................................................................................................................................................
       


ชมรมนกพิราบแข่งนครปฐม

Nakornpathom Racing Pigeon Club



 
1.ในฐานะที่เสี่ยไข่เป็นประธานของชมรมนกพิราบแข่งนครปฐม  ผมขอถือโอกาสถามคำถามเกี่ยวกับชมรมนกพิราบนครปฐม

เพื่อให้นักเลี้ยงนกทั่วไปได้ทราบว่ามีจุดเริ่มต้นกันอย่างไร ตอนไหนครับ ?


ชมรมนกพิราบแข่งนครปฐม เท่าที่ทราบจากผู้ใหญ่ที่เลี้ยงนกในรุ่นก่อน เล่าให้ฟังว่า  

เริ่มประมาณปี 2508  ก็เริ่มจากนักเลี้ยงนกในนครปฐมและบริเวณใกล้เคียงกลุ่มเล็กได้รวมตัวกันจัดให้มีการแข่งขัน

ในตอนนั้นก็เป็นแบบไม่เป็นทางการเท่าไรนัก  โดยกติกาในสมัยนั้นเป็นแบบง่ายๆคือ เมื่อมีนกพิราบแข่งของแต่ละท่านมาถึงกรง  

สมาชิกจะรีบนำนำไปส่งให้กรรมการในสถานที่ที่กำหนดไว้ ตัวสมาชิกต้องเป็นคนนำมาส่งเอง  

ซึ่งผลแพ้ชนะนั้นนอกจากนกจะกลับมาที่กรงเร็วแล้ว  สมาชิกก็ต้องเร็วด้วย ก็ทั้งนกและคนละครับ

ส่วนใหญ่สมาชิกจะใช้มอเตอร์ไซค์แข่งกันให้เร็วที่สุดด้วยเพื่อนำนกมาส่ง ใครมารายงานตัวพร้อมนกเร็วที่สุดก็ชนะเป็นลำดับกันไป  

ก็คล้ายกับในกรุงเทพยุคก่อนเช่นกัน


ก็เป็นสีสันที่สนุกสนานกันดีครับ ได้ฟังจากผู้ใหญ่เล่าแล้วเห็นภาพเลยครับว่ามันเร่งรีบ  

เอาเป็นเอาตายกันขนาดไหนเพื่อส่งนกที่กลับจากการแข่งขันให้กรรมการ

มีนะครับที่สมาชิกบางท่านรถเสียหลักล้มลง จนสมาชิกกลิ้งไปกับพื้นถนนไปหลายตลบแต่ในมือก็ยังจับนกไว้แน่น

แล้วก็รีบลุกขึ้นมาวิ่งกันต่อพร้อมนกตัวเก่งที่ยังอยู่ในมือ เพื่อไปหากรรมการเพื่อส่งนก

โดยที่ทิ้งจักรยานยนต์ที่สตาทรถไม่ติดไว้ที่ถนนก็มี

ก็เพียงเพื่อให้นกและคนเลี้ยงชนะก่อนละครับ



ต่อมาในปี 2515 ได้มีการก่อตั้งชมรมนกพิราบแข่งจังหวัดนครปฐมอย่างเป็นทางการ

โดยมี "คุณพิชัย ลักษมีพิเชษฐ์ "หรือที่เราเรียกกันว่า "เฮียบู้" เป็นประธานคนแรก และ

ในตอนนั้นก็ได้นำนาฬิกานกมาใช้กันเพื่อตัดสินเวลานกกลับเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกันกับทางกรุงเทพ


สมาชิกในสมัยนั้นส่วนใหญ่จะอยู่กันแถวๆบริเวณตลาดล่าง และ ตลาดบน นอกนั้นก็พอมีสมาชิกบริเวณโดยรอบบ้าง

เช่น หลังสถานีรถไฟ ย่านวัดกลาง หน้าโรงหนังโอเดี่ยน สระบัว ถนนพิพิธประสาทซอย4 และ แถวปลายคลอง 

โดยการแข่งขันในยุคนั้นใช้วิธีการคำนวณต่อระยะทางอากาศแบบเป็นช่องอากาศ เช่นเดียวกันกับทางกรุงเทพ   

สมัยนั้นตอนเย็นๆ  กลางคืน ก็มักจะมีสถากาแฟสมาชิกก็มักจะมาพบปะพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ก็เป็นการพักผ่อน หลังทำงาน

และ เลี้ยงนกกันเสร็จ ส่วนใหญ่ก็นั่งเล่นกันที่หน้าร้านขายรองเท้าของเฮียเพ้ง  สมาชิกก็มากันเป็นประจำ มาพูดคุยกัน

เรื่องนกก็มาแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้กัน


โดยเฉพาะในวันอาทิตย์เย็นหลังการแข่งขันจะเยอะเป็นพิเศษ และ เป็นธรรมเนียมคือผู้ชนะในวันนั้นก็มักจะเป็นเจ้าภาพ

สั่งอาหารจากร้านแต้เต็กเซี้ยงมาเลี้ยงฉลองกัน บรรยากาศเต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพอันดีต่อกัน มีความรัก

ความสามัคคีของบรรดาสมาชิก

(ซึ่งผมเองก็มักจะทำในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ที่ที่ทำการของชมรมอยู่เสมอ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

ได้สานไมตรีที่ดีระหว่างสมาชิก ได้ฟังข้อแนะนำต่างๆจากสมาชิกเพื่อนำมาปรับปรุงให้ชมรมนครปฐมให้ดีขึ้น)   



นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การแข่งขันนกพิราบนครปฐมได้มีกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน




ที่ผ่านมาชมรมของเรามีประธานที่ช่วยเสียสละ เวลา และ ทุนทรัพย์กันมาแล้ว 10 ท่าน และ

ได้มีการย้ายที่ทำการของชมรมมาแล้วถึง 12 แห่ง โดยส่วนใหญ่ก็จะคำนึงถึงความสะดวกของสมาชิกเป็นหลัก 
 
ผมเองก็ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานจัดการแข่งขัน

ก็พยายามทำหน้าที่ของตนเองที่ได้รับความไว้ใจให้ดี่ที่สุด

โดยยึดหลักความถูกต้องเป็นหลักเกณฑ์ และ พยายามปรับวิธีการทำงาน บริหาร

ของชมรมให้ทันสมัยเช่นเดียวกับที่ทางกรุงเทพได้ทำกัน

สร้างความรักความสามัคคีให้หมู่สมาชิก พยายามให้สมาชิกช่วยกันบริหาร ให้ชัดเจน โปร่งใส สะอาด ขจัดข้อครหา รวดเร็ว 


ที่ทำการของชมรมนกพิราบแข่งนครปฐม นอกจากจะใช้ในเรื่องกิจกรรม การแข่งนก ประชุมกรรมการ สมาชิก ก็เป็นที่สำหรับพบปะสังสรรค์กัน

วันเกิดของเสี่ยไข่ก็เคยมาจัดกันที่นี่เช่นกัน
 


อีกเรื่องก็พยายามให้มีคนเลี้ยงนกพิราบแข่งเพิ่มขึ้นทั้งนักเลี้ยงนกใหม่ และ สมาชิกเก่ากลับมาเลี้ยงใหม่

พยายามให้มีนกพิราบแข่งเพิ่มขึ้น ท่านที่ไม่สะดวกในการเลี้ยงแข่ง เราก็ส่งเสริมให้มีกรงอินเตอร์ในนครปฐมขึ้นมาอีกหลายกรง

เช่นกรงอินเตอร์นครปฐมของผม ของคุณเรืองชัย พี่ปุ้ม และ อินเตอร์โอ๊ต อัศวิน

ซึ่งก็มีนักเลี้ยงนกจากทั่วประเทศส่งนกมาร่วมแข่งกัน รวมถึงสมาชิกจากทางกรุงเทพ

ซึ่งยุคนี้บางท่านได้เปรียบเปยว่าเป็นยุคทองซึ่งผมเองก็ยังไม่คิดว่าเราทำได้สำเร็จแล้วนะ

ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เราต้องช่วยกันปรับปรุงให้ดีขึ้น



2. ปัจจุบัน นครปฐม มีสมาชิกประมาณกี่กรง? และส่ง แข่งขันกันประมาณกี่กรงครับ? มีการแข่งขันสายไหนบ้างครับ?

ปัจจุบัน มี สมาชิก45 กรง ที่ส่งแข่งขันก็มีประมาณ 20 กรง แข่งทั้งสายเหนือและสายใต้


3. ที่นครปฐมมีกรงอินเตอร์ไหมครับ?

ที่นครปฐม เรามีกรงอินเตอร์ 3 กรง   

1. กรงอินเตอร์เรืองชัย  2. อินเตอร์นครปฐม   3. อินเตอร์โอ๊ต อัศวิน 

ก็มีสมาชิกนอกจากในนครปฐม ก็มีเพื่อนๆจากกรุงเทพ หัวหิน สุพรรณบุรี มหาชัย ชลบุรี ฯลฯ ร่วมสนับสนุน มาสนุกกันครับ



อินเตอร์นครปฐม อินเตอร์อัศวิน และ รอภาพกรงอินเตอร์ธนานันท์



4. เสี่ยไข่เป็นประธานจัดการแข่งขันของชมรมนกพิราบแข่งนครปฐมตั้งแต่เมื่อไรครับ? คาดหวังอะไรบ้างครับในอนาคต?

ผมเองได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกรับตำแหน่งประธานชมรมนครปฐมมา 3 ปี ปีนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 4 ครับ

ผมเองคาดหวังว่าในอนาคตจะเห็นสมาชิกเพิ่มขึ้น จำนวนนกแข่งเพิ่มขึ้น แต่ละสายน่าจะอยู่ที่ประมาณ  800 - 1,000  ตัว

ซึ่งตอนนี้เราทำได้ดีมีนกแข่ง ขายห่วงได้ประมาณ 1000 ห่วง  สายเหนือก็ดีขึ้นมากครับ
 
ซึ่งการที่เรามีการแข่งขันที่พัฒนาดีขึ้น มีการแข่งขันที่สูงขึ้น พัฒนาสายพันธุ์และระบบการเลี้ยงการซ้อมมากขึ้น

ซึ่งทำให้ถึงตอนนี้ นักเลี้ยงหัวแถวของนครปฐม สามารถที่จะขึ้นไปเลี้ยงแข่งกับทางกรุงเทพได้แล้ว



5. ตั้งแต่เสี่ยไข่ได้เข้ามาเป็นประธานได้ปรับปรุงอะไรบ้างครับ?

ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ ผมก็ได้ปรับไปหลายอย่าง เช่น

5.1 ระบบนาฬิกา และ การตัดสินให้ใช้ระบบเดียวกันกับกรุงเทพ คือ ใช้ระบบอีเลคโทรนิคของเบนซิ่ง เป็นแบบชิปริง

และ นกแข่งก็ใช้ชิปริงแบบตายสำหรับนกห่วง เพื่อความรวดเร็ว สะดวก และ โปร่งใสในการแข่งขันและการตัดสิน




5.2.ผมได้สร้างชมรมที่ถาวรขึ้น สะดวกในการเดินทาง สะดวกในการส่งนกและนาฬิกา  แรกเริ่มก็มีเสียงคัดค้าน

ผมต้องการให้ชมรมมีสถานที่ทำการที่ดี ทำงานกันได้สะดวกสบายสำหรับสมาชิก และ นก และ ให้ชมรมเป็นสถานที่สำหรับ

พวกเราคนรักนกพิราบแข่ง มาประชุมกัน พบปะกัน สังสรรค์กัน

ยอดนกก่อนที่ผมจะทำหน้าที่เป็นประธาน เมื่อก่อนมียอดนกแข่งอยู่ประมาณ 300 ตัว ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 % - 250%




5.3. นครปฐมมีปัญหากรงที่จะรองรับนก จึงได้ช่วยกันสนับสนุนสร้างกรงอินเตอร์ ทั้ง 3 กรง ขึ้นมา

ที่หนักใจที่สุดของนครปฐมตอนเริ่มรับงานใหม่ๆ คือ สมาชิกแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า มีเรื่องโต้แย้งกันทุกสัปดาห์

แรกเริ่มก็รู้สึกถอดใจ แต่พอเวลาผ่านไป สมาชิกถึงได้เห็น ได้เข้าใจว่า การทำหน้าที่ของเราคือ

ยึดถือความถูกต้อง บริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่เอนเอียงไปเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

บวกกับการให้ การเสียสละ ที่เขาได้เห็นและจับต้องกันได้ จึงทำให้ได้รับการยอมรับมาจนถึงทุกวันนี้



6. การทำงานทุกอย่างย่อมมีปัญหา และ อุปสรรค  ตอนนี้เท่าที่เสียไข่ดูแล้วมันยังมีอะไรที่เป็นปัญหาอยู่ครับ?

ปัญหาและอุปสรรค ของนครปฐม คือ จำนวนกรงและนักเลี้ยงอาชีพที่จะดูแลนกได้ดีนั้นมีน้อยมาก

นักเลี้ยงที่มีฝีมือส่วนมากก็อยู่ในกรุงเทพ

ไม่มีสมาชิกคนใด มีความคิดที่จะปั้นนักเลี้ยงหน้าใหม่ขึ้นมา


ที่กรงผมมีความคิดนี้ ผมเปลี่ยนคนเลี้ยงตลอด คนแรกตอนนี้ไปดูแลกรงอินเตอร์นครปฐม คนที่สองไปดูแลกรงสายเหนือที่สะแกงาม  

คนที่ 3 – 4 กำลังเริ่มฝึกสายใต้และสายเหนือนี้ ซึ่งไม่เคยรู้จักการเลี้ยงมาก่อนเลย เหนื่อยมากครับ

ฝึกพร้อมกัน 2 คน เด็กทั้ง 4 คน เลี้ยงได้ โดยเฉพาะ 2 คนแรก


ประสมการณ์รวม ทั้งผมเอง 3 ปีกว่าๆ ผลงานได้เท่าที่เห็น ผมถือว่าผมพอใจแล้วครับ   ก็อยากที่จะเห็นนครปฐมมีนักเลี้ยงนกรุ่นเยาว์

นักเลี้ยงนกหน้าใหม่ และ นักเลี้ยงนกหน้าเก่ากลับเลี้ยงนกกันเพิ่มขึ้นมาอีก และ

อยากที่จะให้สมาชิกนครปฐมให้การสนับสนุน นักเลี้ยงนกใหม่  โดยส่วนตัวผมพร้อมช่วยเหลือตลอดครับ  

ที่ชมรมนกพิราบแข่งนครปฐม เราจะมีการจัดงานเลี้ยงมอบถ้วยรางวัลประจำปีกันทุกปี เราก็เชิญสมาชิกทุกท่านมาร่วมงาน 

มาร่วมแสดงความยินดีกับผู้ชนะ  ในงานเลี้ยงประจำปีที่พวกเราจัดก็ทำให้เราได้มีโอกาสเจอกันพร้อมหน้า เสิรมสร้างความสามัคี

ความสัมพันธ์ที่ดี มาสนุกสนาน ครื้นเครงกัน 


ชมรมเองก็ได้เชิญแขกผู้มีเกียรติจากทางกรุงเทพ และ จังหวัดอื่นๆมาร่วมกัน

ซึ่งที่ผ่านมาเราจัดติดต่อกันมาหลายปีก็ได้รับการตอบรับมากันมากมาย

มีรางวัล มีของที่ระลึกประจำปีจากชมรมด้วยครับ 








ก็ขอจบเรื่องราวของชมรมนกพิราบแข่งนครปฐม เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ  คิดว่าอนาคตคงต้องมีเรื่องราวตอนต่อไป

สำหรับส่วนตัวผม ผมเห็นชมรมนี้เติบโตได้เร็วมาก ได้ผู้นำ ได้คณะกรรมการบริหาร และ ได้สมาชิก ร่วมกัน ช่วยกัน

สร้างชมรมนี้ให้เติบโตไปได้ดีมาตลอด   ระบบที่ทันสมัย  การพัฒนาทั้งคนเลี้ยง ทั้งสายพันธุ์ ทั้งเทคนิคการเลี้ยง

ผลงานของนกแข่งดีขึ้นมากๆ  คนเลี้ยงเพิ่มขึ้น จำนวนนกแข่งเพิ่มขึ้น  เห็นได้ชัดว่าถ้ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เชื่อว่าไม่นานน่าจะมีโอกาสทัดเทียมกับทางกรุงเทพได้ครับ





สุดท้ายผมต้องขอพระคุณเสี่ยไข่ที่สละเวลาอันมีค่าให้ข้อมูล ความรู้ คำแนะนำ ต่างๆ  เป็นการแบ่งปันกันแบบละเอียดลึกมากๆ 

ผมและคนเลี้ยงนกก็ขออวยพรให้เสี่ยไข่มีสุขภาพพลานามัยที่ดี ประสบความสำเร็จทั้งในธุรกิจการงานที่ดูแล รวมถึงนกพิราบแข่ง และ

พัฒนาชมรมนกพิราบแข่งนครปฐม ให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกตามที่หวังไว้ด้วยครับ 



เอาละครับ เราก็ได้รู้จักกับ " เสี่ยไข่-ยศพงศ์ " ที่ได้ให้โอกาสกับทีมงาน FCL เรา ได้เจาะลึกเกี่ยวกับตัวเสี่ยไข่เอง

นกพิราบแข่ง และ ชมรมนกพิราบแข่งนครปฐม 

เรามาติดตามกันนะครับว่า เราจะไปเยี่ยมกรงใครในคราวต่อไป อดใจรอไม่นานหรอกครับ ทีมงานกำลังทำงานต่อไปอยู่ครับ

จัดทำโดย Francis Loft 

           
Copyright © 2024 www.francisloft.com All right reserved.