JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0

The Best of Ad Schaerlaeckens Vol. 1 ตอนที่ 24 Let's give visual

2012-10-22 15:25:07 ใน บทความจากหนังสือ » 0 3019 ตอนที่ 24 Let’s get visual

ก่อนเริ่มเรื่องก็ขอเขียนอะไรหน่อย ก็มีเวลาหลังทานข้าวเที่ยงหน่อยสัก 10 นาที

การทำหนังสือนก หรือ ทำเว็บนั้น มันมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องค้ำจุนช่วยเหลือกันไม่ว่าจะ สมาชิก คนทำหนังสือ คนทำเว็บ  สปอนเซอร์ผู้สนับสนุน  ผลที่ออกมาก็ทำให้ผู้จัดทำ ผู้เขียนนั้นมี "กำลังใจ" ที่จะคิด เขียน  ทำผลงานดีๆ ออกมาเพื่อส่งเสริมกีฬาเราให้ดำเนิน และ ก้าวหน้าต่อไปได้ 

ถ้าไม่มีสมาชิกใหม่ๆเกิดขึ้นมา  กีฬาที่เรารักนี้ตายแน่   นั้นคือสิ่งที่เราไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้น หรือ เป็นไป  ดังนั้นเราควรที่จะช่วยกันส่งเสริม กระตุ้น และ ช่วยเหลือทั้งคนที่สนใจ หรือ เริ่มเลี้ยงใหม่  และ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จกับการแข่งขันเท่าไรนัก  ให้พวกเขามีกำลังใจ มีเพื่อนในวงการเลี้ยงนก ช่วยกันแก้ปัญหา ให้คำปรึกษา  แบ่งปันพันธุ์นกบ้างก็ฟรี หรือ อยู่ในราคาที่ย่อมเยา เพราะการเลี้ยงนกปัจจุบันนั้นเด็กๆ เริ่มเลี้ยงนั้นคงเป็นไปได้ยากเพราะต้นทุนการเลี้ยงนกมันไม่ถูกเอาเลย  และ เด็กๆนั้นมีอะไรหลายๆอย่างดึงความสนใจเขาออกไปจากเรา ไม่ว่าจะเรื่องเรียน กีฬา เกมส์  เที่ยว ฯลฯ    ดังนั้นคนที่อยู่ก็พยายามให้พวกเขาได้อยู่เลี้ยงกันนานๆ สนุก และ เป็นสังคมที่ดี  ก็ยังคงฝันอยู่นะครับ  เรื่องนี้ก็เป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับพวกเราคนเลี้ยงนก และ หน่วยงานต่างๆ ที่จะให้ความสำคัญระดับไหนกัน   

 ในการทำหนังสือนั้น  วัตถุประสงค์ก็ชัดเจนเพื่อเป็นสื่ออีกทางหนึ่งสำหรับวงการนกเรา  หนังสือที่ทำก็ไม่ได้เป็นของสมาคมใด หน่วยงานใด หรือ ทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือ แสวงหากำไร   ก็เป็นกลางละครับ  เหตุผลอีกอย่างที่ทำก็เพื่อเป็นการเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูล แบ่งปันประสบการณ์ของนักเลี้ยงนกที่ดี ประสบความสำเร็จ มาให้ข้อมูล วิธีการ ถึงเพื่อนๆ หรือ สมาชิกใหม่ได้ทราบกัน  มีงานแปลดีๆก็มาเล่าสู่กันฟัง  ก็หวังว่าจะได้รับความร่วมมือด้วยดีจากเพื่อนๆที่มีใจรักในกีฬานี้ครับ
 
งานเขียนนั้นมันเป็นอะไรที่ง่ายขึ้นถ้ามีตัวอย่างหรือภาพประกอบผมเองก็พยายามหาบางภาพที่ดูแล้วน่าสนใจ เกี่ยวข้องกันมาลง



สิ่งสำคัญ 4 อย่างที่ควรตระหนัก

ถ้าจะประสบความสำเร็จในการแข่งนกพิราบนั้นอยากจะให้คิดถึงสิ่งสำคัญ 4 อย่าง ที่คนส่วนใหญ่พูดถึงกัน
1)   นกพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพ
2)   กรงนกที่ดี
3)   นกมีสุขภาพที่ดี และ พร้อมแข่ง
4)   คนเลี้ยงนกที่ดี เข้าใจ และ มองเห็นปัญหา และ รู้จักแก้ไข

สำหรับผมนั้นผมให้ความสำคัญข้อหลังมากๆ เพราะ เป็นอะไรที่รวมอยู่ในตัวเขา  คนเลี้ยงนกที่ดีนั้น (รวมถึงเจ้าของกรงด้วย) จะเป็นคนแสวงหานกดีๆเข้ากรงมาทำพันธุ์ (1) และ ก็เขานั่นละเป็นคนที่ออกแบบ สร้างกรงให้เหมาะกับนกมากที่สุด  กรงแพงๆ สวย ๆ ไม่จำเป็นว่าจะดีกว่ากรงเล็กๆ เป็นเพราะถ้ากรงเล็กๆสร้างได้ถูกหลัก ทำให้นกมีสุขภาพที่ดี ย่อมดีกว่ากรงแพงๆ สวยๆ ซึ่งทำแล้วนกมีโอกาสป่วยได้ จริงไหม?  และ ก็คนเลี้ยงนี้อีกนั่นแหละที่เลี้ยงนกให้มีสุขภาพที่ดี พร้อมแข่งหรือไม่  รู้จักแก้ปัญหา หรือ แม้แต่มองเห็นปัญหาหรือไม่?  ซึ่งนกที่พร้อมแข่งนี่หละสำคัญ  เลี้ยงนกมาทั้งปีไม่พร้อมแข่งในช่วงแข่งก็ไร้ค่า  เหนื่อยเปล่า  ผมเองแข่งนกก็แข่งนกที่มีสุขภาพที่ดี พร้อมแข่ง ไม่พร้อมก็เก็บ   

“ชัยชนะ” นั้นปัจจุบันพูดได้ว่า “เกิดจากนกที่มีสายพันธุ์ที่ดี มีสุขภาพที่ดี อยู่ในทำเลที่ดี และ มีโชคประกอบด้วย”



กรงนก
ผมเองเป็นคนหนึ่งซึ่งรู้สึกเสียใจเหมือนกันเวลาไปเยี่ยมกรงบางคนแล้วเห็นว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “กรงนกที่ดี” เท่าที่ควร

คนบางคนซื้อนกเป็นอาชีพ กล้าใช้เงินซื้อนก แต่ นกเหล่านี้ท้ายสุดก็อยู่กรงที่ไม่ดีนัก  กรงดีๆ ไม่ได้หมายถึง สวยๆ แพงๆ แต่เป็นกรงที่มีอากาศถ่ายเทดี  ป้องกัน ลม หรือ ฝนได้   ไม่ร้อนเกินไป แห้งไม่ชื้น น้ำไม่ขัง ดังนั้นถ้ากรงเล็ก ถูก ทำได้เข้าท่าก็ดีกว่ากรงแพงๆที่ไม่เอาไหนก็ได้



กรงนกที่ดีบางกรง หรือ แต่ละกรงอาจจะไม่เหมาะกับอีกกรงก็ได้  มันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ  กรงในแถบยุโรปแน่นอนไม่เหมาะกับเมืองไทยก็ได้  เขามีทั้งหนาว หิมะ ฝน พายุ  แดดน้อย  กรงพวกเขาส่วนใหญ่เป็นแบบปิด  ดังนั้นไม่มีกรงไหนที่เป็นมาตรฐานสำหรับสากลหรอกครับเพราะอากาศมันไม่เหมือนกัน

หลายๆคนนั้นคิดว่า สายพันธุ์ และ การให้ยาเป็นเรื่องสำคัญมากๆ จนมองข้ามปัญหาที่กรงนกของตนเองไป  บางคนถ้าการแข่งขันไม่ค่อยดี  ก็อยากให้ลองคิดถึงการออกแบบกรงนกนั้นมีปัญหาหรือไม่

ครั้งหนึ่งนาย AD ได้ถูกเชิญไปอเมริกา ไปให้สัมมนา และ หลังจากนั้นก็มีการเชิญจากนักเลี้ยงนกบางคนให้ช่วยไปคัดนกให้หน่อย  ผลการแข่งไม่ค่อยดีเลย  พอไปถึง เขาเห็นนกอยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยดี  กรงนกนั้นออกแบบไม่ถูกเท่าไรนัก  กรงเปิดมากเกินไป ไม่ได้คิดถึงหน้าหนาว หรือ อากาศเย็น หรือ ฝนบ้างเลย  เขาก็เลยแนะนำให้ดัดแปลงกรง  และ เปลี่ยนแปลงสูตรอาหารสำหรับนก  หลังจากนั้น1-2ปีให้หลัง กรงนี้เก่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด   ก็เป็นอะไรที่อย่ามองข้าม ตะบี้ตะบันแข่งไม่ดี ก็โทษนก แบบไม่ได้คิดถึงกรง 


ฝุ่น
กรงนกควรระวังเรื่องฝุ่นเพราะฝุ่นนี้เป็นพาหของการแพร่ระบาดของแบคทีเรีย ไวรัส และ ไข่ของพยาธิได้ (hairworms)   ซึ่งอันตรายสำหรับคนและนกได้ 

ภูมิต้านทาน
บทความก่อนหน้านี้ผมได้พูดถึงความสำคัญของภูมิต้านทาน ยิ่งปัจจุบันนี้ทั้งคนและนกมีน้อยลงไปทุกวัน  สำหรับนกนั้น

“เราควรที่จะป้องกันไม่ให้นกป่วยมากกว่าที่จะมองหายาดีๆ”   

ที่เมืองนกนั้นโดยเฉพาะที่ยุโรปเขาห่วงเรื่องนี้มาก  บางคนก็ปล่อยนกบินตอนหน้าหนาว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่กล้าเพราะช่วงนั้นพวก เหยี่ยว นกอินทรีย์  อันตรายมาก  อาหารมีน้อย  ยิ่งนกออกมาบินละก็โดนแน่  ผมเคยเห็นกรงหนึ่งโดน 2 ตัว  เลือดสาดเต็มพื้น  อีกกรงถึงกับวางกับดักดักจับนกอินทรีย์ เหยี่ยวก็มี  ที่นั่นห้ามยิงนะครับ  ค่าปรับแรงมาก


การให้อาหาร
หลายคนจำกัดอาหารให้กินในแต่ละมือเท่ากันหมด  มันไม่เหมาะสมเพราะนกแต่ละตัวกินในบางช่วงเวลา หรือ ต้องการอาหารในบางช่วงเวลาต่างกัน  อากาศที่เย็นนกต้องการอาหารมากขึ้น  นกป้อนลูกยิ่งกินมากเข้าไปใหญ่  คนบางคนแยกนกตัวผู้ หรือ ตัวเมียออกตอนนกป้อนได้สัก 16 วันก็มี   จะเห็นได้ว่านกพ่อ หรือ แม่นกนั้นป้อนแหลก   ก็ดีเหมือนกันเพราะนกไม่ต้องมาออกไข่ หรือ ไล่นก ไล่ปี้กัน  ป้อนอย่างเดียว   ส่วนลูกนกที่แยกออกถ้าสังเกตดูมันจะมีความชื้น ร้อนๆ จนรู้สึกได้  ดังนั้นพื้นกรงควรที่จะอุ่น  เมืองนอกถึงใช้ฟาง  ดังนั้นกรงไหนที่เป็นตาข่ายก็สังเกตดูหน่อย

No way back ไม่มีทางหวนกลับมาได้อีก
คนที่ใช้ยามากๆ นกที่โดนยามากๆ นั้นภูมิคุ้มกันก็จะน้อยลง ดังนั้นการให้ยาปฎิชีวนะมากๆ ก็ต้องระวังให้มาก  คนไหนที่ไปซื้อนกคนที่ใช้ยามากๆ ก็ระวังจะได้นกที่มีสุขภาพไม่ค่อยดี  มันอาจไม่แสดงให้เห็นตอนนั้นแต่พอมันเริ่มมีอายุสัก 5-7ปี หรือ ตอนไม่สบาย บางตัวป่วยบ่อย  ไข่หมดเร็ว ไม่มีเชื้อเร็ว พวกนี้ละครับมีส่วนมากๆ  ครั้งหนึ่งพี่โต รณชัย จองศิริ กรงสุขสันต์ จิรจริยาเวช เคยบอกผมว่า “ไอ้พวกสเตียร์นี้มันหมดเชื้อเร็วเป็นเพราะเขาใช้ยากับมันมากไป” ผมเองก็เป็นคนที่เล่นนกสายพันธุ์นี้มานานก็สังเกตุเห็นว่าเป็นเหมือนกัน

นกบางตัวนะถ้ามันป่วยก็รักษาแค่ตัวนั้นๆ ก็พอ  บางกรงหว่านไปทั้งกรง  ผมก็ไม่รู้ว่าให้ไปทำไม  คิดเอาง่ายๆ ถ้านักเรียนในชั้นของลูกคุณป่วยวิงเวียนศีรษะ เป็นหวัด หรือ ท้องเสียแค่คนหนึ่งในชั้นซึ่งมีนักเรียน 50 คน   จำเป็นต้องให้ยาหมดทั้งชั้นเรียนหรือเปล่า  คุณยอมไหมละ ที่จะให้พวกครูหรือหมอให้ยาถ้าลูกคุณไม่ป่วย


การติดโรค หรือ เป็นโรค
สิ่งสำคัญซึ่งทำให้นกป่วยก็มี
•   ติดมาจากนกที่อื่น
•   เลี้ยงนกจำนวนมากเกินไป
•   นกเครียด
การเป็นโรคที่ติดจากนกที่อื่นนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องตระหนัก เราเอานกอะไรมาเข้ากรง  เราศึกษากรงนั้นดีพอหรือเปล่า การย้ายนกจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งก็เป็นการนำแบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ หรือ ไวรัสไปด้วยก็ได้    คนก็เหมือนกัน ตามฟาร์มต่างๆเขาก็มีน้ำยาล้างพื้นรองเท้าก็มี ล้างล้อรถก็มี  ผมเคยเห็นที่กรงคุณประทีปก็ใช้วิธีนี้เหมือนกันสำหรับรองเท้า  สำหรับนกแข่งเราจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายนกตลอด ก็เป็นอะไรที่เลี่ยงไม่ได้ สำหรับนกแข่ง  ก็ควรระวัง   สังเกตุนก และ รักษาสุขภาพนกให้ดี   เวลาบรรจุนกลงตะกร้าก็อย่าให้มากเกินไปต่อ 1 ตะกร้า 

หนู
เราควรระวังหนูให้มาก พวกมันเป็นพาหะนำโรค ไม่ว่าจะติดตัวมันมา เวลามันเดินผ่าน เวลามันฉี่  ผลการวิเคราะห์ที่ได้  หนูเป็นตัวร้ายที่นำโรค Salmonella หรือ เรียกง่ายๆก็ พาราไทฟอยด์ ไม่กินข้าว  ขี้แตกขี้แตน นกหมดแรง ง่อยเปลี้ย ระบาดกันไปทั่ว และ ท้ายสุดก็หมดสภาพถึงตายได้นั่นแหละ

การให้ยา
การให้ยานั้น ถ้าจำเป็นให้ก็ต้องให้เพื่อ "รักษา" แต่ต้องให้ให้ถูก “ให้น้อยไปไม่ครบโดสก็เป็นโทษมากกว่าให้มากเกินไป”



ส่วนด้านล่างก็เป็นหนังสือ The Pigeon Health & Management ที่ผมขอแนะนำว่าควรมีติดกรงเป็นเล่มที่ดีมากเล่มหนึ่ง  ว่าด้วยสุขภาพนก และ การดูแล ของ Dr. Colin Walker ที่มีชื่อเสียงของ Australia
ก่อนอื่นก็ดีใจครับที่บทความนี้มีคนเข้ามาอ่านมากกว่า 3000 ครั้ง และ สัพเพเหระ ก็ใกล้ 2000 ครั้ง  มีกำลังใจเขียนหน่อย  บทที่ 24 นี้ยาวมาก  ก็พยายามเขียนให้ได้ใจความหลักๆมากที่สุด ก็ต่อกันเลยครับ

จะโทษใครดีละ
นกที่ขี้ตื่นในกรง  นกที่มาแล้วกลัว  วนแหลกไม่ลงกรง มันมีที่มาและมีสาเหตุทั้งนั้น  นกที่มาแล้วลงกรงเร็วไม่ใช่ว่ามันเห็นเราน่าตาดี แต่งตัวดี  แล้วลงกรงเร็ว 
“นกพิราบนั้นถูกทำให้กลัว และ นกพิราบนั้นถูกทำให้เชื่อง และ มีระเบียบ”
ในกรงคนที่เป็นนักเลี้ยงที่ดีนั้น เขาค่อยๆ เคลื่อนตัว ไม่รีบร้อน กระโชก วิ่ง ตะโกนโหวกเหวก  พวกเขาค่อยๆจับนก ถ้าคุณรีบร้อน ก็อย่าเข้ากรงดีกว่า ที่จะไล่ตระคลุบพวกมัน ให้มันตื่นกลัวเปล่า ๆ   คนเลี้ยงนกที่ดีนกไม่ตื่น และ เขาสามารถจับมันได้ด้วยมือเดียว    พวกนกนั้นสูญเสียความมั่นใจในตัวคุณแค่ครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว  ต่อไปมันก็จำแม่นซะด้วย เราดีกับมันมันดีตอบ  ผมมีนกเชื่องๆแบบนี้หลายตัว  มีตัวหนึ่ง สีมิลลี่เมียมันเชื่องมาก และมันบินดีมาก  ผมประทับใจมันมากก็ตอนที่มันกลับ  มันอยู่บนท้องฟ้าสูงแค่ไหนก็ม้วนเดียวจบ  วันที่ได้ที่ 1 เชียงใหม่ (ที่ 6 อุตรดิตถ์) มันมาสูงลิบๆ และดิ่งลงมาผมยังไม่ทันตั้งหลักถอยเลย  ก็ลงกรงแล้ว  อีกตัวเป็นนกที่เก่งมาก บินติดเชียงราย 3 ปีติด  ตัวนี้ถ้าผมเข้ากรงเมื่อไรมันจะบินขึ้นมาเกาะไหล่ เกาะแขนผม  ต่อมาถ้าผมยืนนอกกรงมันบินมาหาผมและเกาะไหล่ผมได้เลย  จนเจ้าตรีคนเลี้ยงผมต้องขอร้องว่า  “เฮียอย่าเพิ่งออกมายืนข้างนอก เจ้าตัวเก่งมันเห็นเฮียแล้วมันจะไม่ยอมบิน มันจะลงให้ได้”  ผมรักนก 2 ตัวนี้มาก 

Make love
ที่เบลเยี่ยม และ ฮอลแลนด์ คนแข่งด้วยระบบ Widowhood ระบบหม้ายเป็นหลัก ก็เห็นตัวเมียก่อนลงตระกร้า และ ตอนกลับ  คนจำนวนคิดว่ามันบินกลับมาเพื่อตัวเมีย  เพื่อ Make Love  ที่จริงแล้วลงกลับมาเพราะมันรักรัง รักช่องมันต่างหาก  ตัวอย่างง่ายที่เห็นได้ชัดจากคำบอกเล่าของ Etiene de Vos เจ้าของยอดนก Kleine Didi  ในกรงที่มันอยู่นั้น มีเพื่อนร่วมห้องอยู่ตัวเดียวเท่านั้น และ มันเกลียดเจ้าหมอนี้มากๆ   ตัวหนึ่งต้องล็อกไว้ในช่อง  อีกตัวถึงปล่อยออกมาได้  ถ้าเจอกันเมื่อไร เป็นเละ วันที่แข่งจุด ประจำชาติที่สำคัญจุดหนึ่ง   Etiene ก็โชว์ตัวเมียให้เจ้า Didi เห็น ก่อนลงตะกร้า มันกลับมาวันนั้นได้ที่ 1 National กลับมาด้วยความเร็ว เหมือนมีปีศาจไล่กวดหลังมันมาก็ว่าได้   Etiene ประหลาดใจมากเพราะแทนที่มันจะเข้ามาที่ช่องมันเพื่อหาตัวเมีย  มันกลับตรงไปที่ช่องไอ้ตัวผู้อีกตัว  มันตรงเข้าไปจิกที่คอ ลาก อัดตีเจ้าหมอนั้น  แทนที่จะกลับช่องหาตัวเมียของมันเพื่อความรัก ความมันส์

ลูกนก
การฝึกลูกนกให้ “เชื่อง” นั้นกรงควรที่จะต้องเล็ก นกมีพื้นที่เคลื่อนตัวได้น้อย กรงเล็กๆ ดีสำหรับการเลี้ยง การฝึกนก เพราะมันจะห่วงพื้นที่อาณาเขตของมัน 

อย่ามองข้ามนกตัวเมียที่เข้าคู่เลสเบี้ยนกัน  ยิ่งถ้ามันไข่แล้วละก็มันจะหวงไข่มาก  บางตัวมันกันคู่ของมันมากกกไข่ แย่งกันกก ก็มี   นกพวกนี้เอาไปแข่งเก่งมีเยอะแล้วครับ



กรงนก HvR , Dr.Linssen
ย้อนกลับมาที่กรงนกอีกครั้ง  บางคนพอเลี้ยงนกดี ประสบความสำเร็จ  ก็ขยายกรง สร้างใหม่ ซะใหญ่โต หรูหราแต่ผลของมันกลับไม่ดีเท่ากับกรงเล็กๆ หรือ กรงเก่าเลย  ตัวอย่างหนึ่งก็ Huyskens Van Riel (HvR)  ช่วงปี 1950 นั้น นกเขาเก่งมาก ชนะเงินรางวัลเพียบ เขาก็เลยสร้างกรงใหม่ ใหญ่สวยหรูกว่าเดิม แต่ผลนั้นน่าผิดหวัง  นกไม่ได้ต้องการกรงที่สวยหรู แต่ นกต้องการกรงที่สร้างได้ถูกหลัก อยู่แล้วอบอุ่น มีสุขภาพที่ดี  ป้องกันความเย็น ความหนาวจับจิต และ หน้าร้อนก็ไม่ร้อนเกินไป   HvRนั้นเล่นนกของ Jos van den Bosch (JvdB) ผ่าเข้ากับนกของเขา   นกเหล่า JvdB นี้มีสายของ Halve Fabry  ของ Janssen Brothers   และ ไอ้เจ้านกคู่ทองของ Karel Meulemans นั่นละครับ  เจ้าตัวผู้ก็มีสาย JvdB ที่ว่าไว้ข้างตนละครับ   

อีกตัวอย่างของ Dr.Linssens (LS) หมอซึ่งดูแล Klak ซึ่งต่อมา Klak ก็ได้ให้นกแก LS เพื่อเป็นของขวัญ ทั้งคู่ก็พัฒนาเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน  แต่ผลการแข่งขันของ LS  ไม่ดี  ซึ่งพวกเขาก็คิดไม่ออกว่าทำไม  นกมันไม่น่าจะแย่ขนาดนั้น  กรงอื่นแถวบ้านเขาก็ดีกัน  ซึ่งKlak สังเกตุเห็นว่าข้างกรงมีต้นไม่ขนาดใหญ่และเงาของมันนั้นพาดผ่านมาคลุมที่กรง  ซึ่ง Klak ให้คำแนะนำว่า ถ้าไม่ตัดต้นไม้ทิ้งซะ  ก็ให้เคลื่อนย้ายกรงให้พ้นเงาไม้นี้   LS ตัดสินใจเคลื่อนย้ายกรงไปสัก 30 เมตรได้   ผลการแข่งขันหลังจากนั้นดีอย่างเหลือเชื่อ  ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่กรงเป็นเหตูแต่สภาพแวดล้อมเป็นเหตุครับ   ที่เมืองนอกนั้นการตัดต้นไม้อย่างเยอรมัน  ต้นไม้ตามทาง  หรือ ในสวนต้นใหญ่จะตัดต้องขอทางการเป็นเรื่องเป็นราวก่อนนะครับ  ขืนตัดแล้วเขาจับได้  ถูกปรับบาน  จะมาบอกว่าอยู่ในสวนคุณก็ไม่ได้  เขารักษ์ธรรมชาติ  รักษ์สิ่งแวดล้อม

ฮอร์โมน
นกพิราบเรานั้นพัฒนามาจากนกเขาป่า Wild doves ซึ่งธรรมชาติของมันนั้นทำรังอยู่ตามตามหินผา เป็นโพรง ดังนั้นธรรมชาติของมันชอบที่จะทำรังในความมืด   Klak, Janssen นั้นรู้ถึงธรรมชาติของนกในข้อนี้ดี ดังนั้นจึงทำช่องที่ค่อนขับมืด ทึบหน่อย 

เรื่องแสง และ ความมืด  โดยเฉพาะการแข่งขันลูกนกที่เมืองนอกในยุโรปปัจจุบันจะใช้ระบบความมืด Darkening system ด้วยเหตุผลสองอย่างคือ
1 ควบคุมการถ่ายขน
2 สร้างฟอร์มนก เพราะ 3 อาทิตย์หลังได้รับแสงปรกตินกมันจะมีสภาพที่ดีมาก

ระบบนี้บางกรงก็ใช้กับนกแก่เช่นกัน หลอกมันได้  นกมันไม่รู้จักปฎิทินหรอกมันรู้จักธรรมชาติของแสงแดดดี   ที่เมืองนอกนั้นเห็นได้ชัดหน้าหนาว  วันที่มีแดดน้อยมาก นกมันจะไม่เข้าคู่ ไม่คึกมากนัก  แต่พออากาศดี  แดดดี
วันยาวขึ้น  เห็นชัดว่ามันสดชื่น แจ่มใส ก็เริ่มคึก อยากเข้าคู่ สร้างครอบครัว  มันเป็นเรื่องของฮอร์โมนในร่างกายครับ

ส่วนรูปภาพที่ด้านล่างก็เป็นภาพของ Huysken van Riel และ นกของเขา
 
การอาบน้ำ

มันเป็นตัววัดอย่างหนึ่งว่านกนั้นอยู่ในฟอร์มหรือไม่  นกป่วยจะไม่อาบน้ำ นกไม่ชอบน้ำร้อนเหมือนคน  มันชอบเล่นน้ำฝน ผมจำได้ดี พี่โตก็เคยบอกผม และ ตอนผมไปไต้หวัน 12 ปีก่อน  ก็เห็นพี่โตอาบน้ำนกด้วยถาดอาบน้ำ พร้อมฉีดน้ำเป็นละอองเหมือนฝนให้นกเช่นกัน  นกถ้าแสดงอาการอาบน้ำแล้วละก็ควรจัดการให้มันอาบซะ  ไม่ควรอาบน้ำตอนเย็นเพราะตัวนกอาจจะแห้งไม่ทัน ขนชื้นแฉะย่อมไม่ดีกับนก ฟอร์มอาจตก ถึงป่วยนิดๆได้

Lier Market

ผมจำบรรยากาศที่ตลาดนกที่เมือง Lier ได้จนถึงทุกวันนี้   วันนั้นผมขับรถจากเยอรมัน พาภรรยา และ ลูกชาย Francis ไป  ออกแต่เช้า  พอถึงมันน่าทึ่งมากเพราะลานกว้างมากหน้าโบสถ์เต็มไปด้วยคนเลี้ยงนกจากทั่วยุโรปมาเพียบ  คนขายนก ขายอุปกรณ์สำหรับเลี้ยงนก   ตลาดนี้จะขายช่วงฤดูใบไม้ผลิ และ เฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น  เฉลี่ยนกขาย 5000 ตัวต่อวัน   ส่วนใหญ่อายุประมาณ 4 สัปดาห์  ราคาก็อยู่ประมาณ 10 – 40 ยูโร  นกที่ขายที่นี่หลายๆคนก็เอาไปเก่งก็มี  ดังนั้นจะบอกว่านกถูกๆที่นี่ไม่เก่งนั้นไม่ได้   ผมเคยอ่านนิตยสารนกเจอนกที่สำเร็จมาจากตลาด Lier นี่ละครับ



Quievrain

Quievrain เป็นจุดแข่งที่มีชื่อเสียงมากของเบลเยี่ยม อยู่ใกล้พรมแดนฝรั่งเศส  กล่าวได้ว่า 80% ของนักเลี้ยงนกเบลเยี่ยมแข่งจุดนี้แม้จะเป็นจุดแข่งระะสั้นมากระยะ 60 กม.จากจุดศูนย์กลางของประเทศ  ช่วงเดือนมิถุนายนจะมีลูกนกปล่อยจากจุดนี้ประมาณ 200,000 ตัว ลองนึกดูถึงเสียงร้องคู กรุกกรู ของนกก่อนปล่อย ว่ามันเพราะขนาดไหน  ภาพนกปล่อย   ท้องฟ้าที่มืดเหมือนสุริยุปราคา ไม่ถึงนาทีหลังปล่อยพอนกไปก็ทิ้งขนนกไว้เหมือนพรมเต็มพื้นไปหมด   แต่เสียงเงียบสงัดหลังจากนั้นซิมันน่ากลัวเหลือเกิน  เพราะก่อนหน้าเสียงนกร้อง  เสียงที่มันบินออกไปมันก้อง มันประทับใจมาก แล้วก็เงียบสงัด

Finished or not?
หลายคนย่อมประสบกับการที่นกตัวเองหายไปตอนแข่ง  บ้างก็กลับแต่ข้ามวัน หลายวัน หลายอาทิตย์ หรือ มากกว่านั้น  แต่ที่จะพูดถึงนั้นคือสภาพนกที่กลับมามันดีขนาดไหนกัน  หลายคนเลี้ยงไม่นานก็ฟื้น  บ้างคนเป็นอาทิตย์  บางตัวเลี้ยงยังไงก็ไม่ขึ้นก็จบ   หลายคนคงถามตนเองว่า เมื่อไรมันถึงจะแข่งได้อีก  นกบางตัวดูเหมือนฟื้นเร็วแต่ก็เห็นแค่ภายนอก  ข้างในอาจจะยังไม่พร้อมก็ได้  มันมีสัญญานบอกได้บ้างดังนี้

1 ดูที่ตา  ถ้ามันกลับมาเปร่งปรั่งเป็นประกายก็โอเค 
2 น้ำหนักนก  ถ้ายังไม่คืนกลับมาดังเดิม  ตัวเบา  ก็ยังไม่น่าแข่ง 
3 เนื้อตัวสีชมพูสวยๆก็แสดงว่าดีขึ้นแล้ว  อาจพร้อมแข่งได้
 
เรื่องของไข่

•   ไข่ที่ออกมาส่ดๆ นั้น สามารถเก็บได้ถึง 1 อาทิตย์ แต่ คุณต้องพลิกไข่ทุกวัน  ถ้ามันเริ่มกกแล้วแม้แต่วันเดียวเก็บได้ไม่ถึงอาทิตย์ครับ เพราะเอมบรีโอในไข่นั้นเริ่มตั้งต้นแล้ว และ ถ้าไม่ได้กกนานก็ตาย
•   ถ้าไข่ไม่สด  มันก็ยังเคลื่อนย้ายได้ ถ้าคุณเก็บรักษามันไว้อุ่นพอ  ที่เมืองนอกอากาศเย็นเขาต้องระวังเรื่องนี้มาก   เมื่อต้นปีไปที่กรง Marc Pollin ก็เห็นเขามีตู้อบฟักไข่ เพราะอากาศตอนนั้นหนาวมาก ติดลบ20 องศาเซลเซียส  เขากลัวไข่จะไม่เป็นตัว   คนที่เคลื่อนย้ายบางคนก็ใช้ถุงน้ำร้อนหุ้มภาชนะบรรจุไข่อีกทีก็มีเยอะครับ

หลายคนสังเกตเห็นว่าตอนนี้เป็นอะไรที่รวมมิตร เกาเหลาหน่อย  มีสารพัดเรื่อง สารพัดหัวข้อ ก็ดีที่สั้นๆ ง่ายๆ เรื่องรูปภาพเนื่องจากตอนนี้ผมยังอยู่ที่ไซง่อน เวียตนาม  กลับไปที่เมืองไทยแล้วจะหาภาพมาประกอบให้ครับ  ตอนที่ 25 ก็เป็นเรื่อง The story of Twins ก็มาดูกันว่าฝาแฝดนั้นมันเกี่ยวอะไรกับตอนนี้ครับ

กรุณาเข้า สู่ระบบ ก่อนทำการเขียนข้อความ
Copyright © 2024 www.francisloft.com All right reserved.