JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0

The Best of Ad Schaerlaeckens Vol. 1 ตอนที่ 7 ระบบหม้าย ยกกำลัง 2

2012-10-04 13:34:58 ใน บทความจากหนังสือ » 0 2398 บทที่ 7 Double Widowhood ระบบหม้าย ยกกำลัง 2
ตอนที่ 7 กว่าจะจบก็คงช้ากว่าที่ผมคาดแน่เพราะงานที่บริษัทที่ทำอยู่แน่นมาก ก็มีผู้ตรวจสอบจากบริษัทแม่ที่เยอรมันมา 4 คน มา 4 สัปดาห์ ซึ่งผมเป็นผู้รับผิดชอบในหลายๆส่วนก็ต้องประชุม และ ร่วมอธิบาย  ก็มาทุกทุก 1-2 ปีเป็นประจำ มาทีก็ยุ่งหน่อยก็คงทำให้งานเขียนช้าไปหน่อยแน่  เดือน กรกฏาคมก็ต้องไปประชุมที่เวียดนามและเซี่ยงไฮ้ ยังไงก็จะรีบปั่นต้นฉบับให้เสร็จครับ
ที่เบลเยี่ยมนั้นเดิมแบ่งการแข่งขันออกเป็นกลุ่มนกแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน  โดยนกที่ส่งแข่งแยกเป็นดังนี้
-   Cocks นกเพศผู้ (นกแก่)
-   Yearlings นกอายุ 1 ขวบ
-   Hens นกเพศเมีย
-   Youngsters ลูกนก
จนปี 2006 ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยยุบไม่แยกการแข่งขันนกเพศเมีย(นกแก่) นั้นก็หมายความว่านกแก่แข่งรวมดังนั้นเวลาอ่านหนังสือนก หรือ เพดดีกรีก็จะได้เข้าใจนะครับ…… มียุบ ก็ต้องมีเพิ่ม ครับเขาก็เพิ่มการแข่งขันนกออกมาอีก 1 ประเภท คือ นกอายุ 2 ขวบ  ผมไม่แน่ใจว่าทำไมแต่คิดว่าเขาคงต้องการให้อนาคตการแข่งนกสนุกกว่าเดิม โดยรักษานกให้อยู่เป็นนกแก่มากขึ้น และ ให้ผู้เลี้ยงสนุกกับการแข่งมากขึ้น ก็เลยเพิ่มลีกขึ้นมาอีกลีกหนึ่ง

หลายท่านถามว่าเขาแยกประเภทมากมายไปทำไมกัน? ทุกอย่างมันก็มีเหตุ มีผล ในตัวมันเองละครับ ก็เขาคิดกันว่านกแก่นั้นอาวุโส มีประสบการณ์ ความเก๋ามากกว่า นกรุ่น และ ลูกนก และเขาก็คิดว่าตัวผู้นั้นดีกว่าตัวเมีย ขืนไม่แยกละก็นกแก่ และ นกตัวผู้ชนะรางวัลหลักๆไปหมดแน่ ก็เลยจัดประเภทการแข่งขัน ซอยย่อยตามที่เขียนไว้ด้านบนไงครับ  และเป็นแฟร์เกมส์ยุติธรรม ซึ่งจะว่าไปถ้าใครมีนกตัวเมียเก่งๆ หรือ นกรุ่นเก่งๆ ละก็น่าสนใจมากเลยเพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะมันอาจจะชนะรางวัล Double ที่ 1 ทั้ง 2 ประเภทได้ รับเงินบานเลยละ  ยิ่งถ้ามีนกตัวเมีย 1 ขวบเก่งๆ ก็อาจชนะ ที่ 1 ได้ถึง 3 ประเภทได้ ก็ประเภทนกเพศเมีย  Hens   นกอายุ 1 ขวบ Yearlings และ นกแก่ได้  แต่
 
ถ้าการแข่งขันทางไกล 900 กม.ขึ้นไป นั้นคนละเรื่องนะครับ นกส่วนใหญที่ชนะจะเป็นนกเพศเมีย  ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม? แต่มันเป็นข้อเท็จจริง เป็น Fact  หลายท่านคงมีคำถามว่าไอ้เรื่องที่เขียนมาตอนนี้ มันเกี่ยวอะไรกับเรื่อง Double Widowhoodนี้? เกี่ยวแน่ ก็ขอให้รอหน่อยครับ



Sensational Development การพัฒนาที่น่าตื่นเต้น
ก่อนจะไปลึกในบทที่ 7 บังเอิญได้อ่านบทความล่าสุดที่นายAD เขียนไว้เมื่อวันที่ 11.6.2009 มาเสิรมเติมแต่งให้บทความตอนนี้ชัดขึ้น ก็เป็นการบ่งบอกถึงวัฒนธรรมการแข่งขันที่เปลี่ยนไปของเบลเยี่ยม  ซึ่งก็อ้างถึงการแข่งขันล่าสุดปีนี้  ที่เบลเยี่ยมนั้นการแข่งขันระดับชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศตลอดมาก็คือ National Bourges ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับกลาง ปีหนึ่งมี 2 ครั้ง  ครั้งแรกก็จะตอนสิ้นเดือน พฤษภาคม และ อีกครั้งก็เป็น สิ้นเดือนสิงหาคม การแข่งขันจุดนี้จะมีคนร่วมแข่งกันมาก   การแข่งขันเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมปีนี้เป็นปีที่ดีมากๆ ไม่เฉพาะอากาศที่ดีเท่านั้น(ท้องฟ้าเปิด และ มีลมแม้จะทวนลมก็ตาม)  แต่จำนวนนกที่ร่วมแข่งมากถึง 49,000 ตัว มากกว่าปีที่แล้วมากถึง 18,000 ตัว   อะไรก็ดีไปหมดยกเว้นลมที่มาติดตะวันออกดังนั้น คนที่อยู่ทางตะวันตกก็จะได้เปรียบ (คิดง่ายๆก็เหมือนกับการแขังขันสายเหนือเวลามีลมตะวันออกเข้ามา นกฝั่งธนฯ ก็เป็นพระเอก ฝั่งพระนครก็เป็นใบ้กัน)  คนทั่วไปก็ประเมิณผลการแข่งขันว่าอากาศแบบนี้เสร็จพวกนกระบบหม้ายตัวผู้แน่เพราะตามประวัติเก่าๆเป็นแบบนั้น

อดีต
ในอดีตนั้นก่อนปี 2000 พวกนักเลี้ยงนกที่นั่นเชื่อกันว่านกตัวเมียนั้นอ่อนแอกว่านกตัวผู้  ตัวเมียจะบินดีได้ก็ต่อเมื่ออากาศไม่ดี หรือ เป็นการแข่งทางไกล 2 วันจบ ยกเว้นก็แต่เจ้า Fieneke 5000 ของ Flor Vervoort หรือ Paula ของ Remy de Mey ที่เขายกให้เป็นยอดนกแข่งตัวเมียที่เก่งมากๆ   



การแข่งขันระยะกลางนี้จะแตกต่างกันระหว่างเบลเยี่ยมกับฮอลแลนด์   ซึ่งที่ฮอลแลนด์นั้นเขาเริ่มนิยมใช้ระบบ Double Widowhood ซึ่งแข่งทั้ง 2 เพศ   ส่วนที่เบลเยี่ยมนั้นเขาแข่งตัวเมียน้อยกว่า 10% ก็ว่าได้ ก็ยังคงนิยมระบบเดิมๆ ที่ไม่เชื่อนกตัวเมีย   ยิ่งไปกว่านั้นที่เบลเยี่ยมเขายังมีการแข่งขันตัวเมียแยกต่างหากเพื่อให้พวกนกตัวเมียมีโอกาสโชว์ฝีมือได้

ปัจจุบัน
พอมาเริ่มทศวรรษนี้สิ่งที่เปลี่ยนไปในการแข่งขันระดับชาติก็คือ นกเพศเมียเริ่มเข้ามาชนะอันดับเยี่ยมๆระดับชาติของประเทศกันให้เห็นแล้วหลายๆครั้ง จนมีพวกปากเสียพูดกันว่ามันมียาพิเศษสำหรับนกตัวเมีย  เป็นโลชั่นพิเศษ ช่างเหลวไหลสิ้นดี   สมาพันธ์นกพิราบแข่งของเบลเยี่ยม KBDB ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างต่อเนื่อง  จนประกาศยกเลิกการแข่งขันพิเศษสำหรับนกเพศเมีย และ ให้นกตัวเมียแข่งรวมกับนกตัวผู้ได้  หลายๆท่านที่ได้ติดตามที่ผมเขียนก็จะเข้าใจในสิ่งที่ผมนำมาโยงเข้าด้วยกันในหลายๆคอลัมน์นี้  เห็นภาพชัดขึ้นแล้วใช่ไหมครับ?

มาดูผลการแข่งขัน Bourges ปี 2009 นี้
-   Vandenheed ชนะที่ 1ประเภทนกแก่ก็เป็นนกตัวเมีย   และ นกอีกตัวก็ชนะที่ 1 ประเภท นกรุ่น 1ขวบ ก็เป็นนกตัวเมีย คิดดูนะครับ นก 2 ตัวของเขาชนะนกแข่ง 49,000 ตัว
-   Cassaert คัสสาร์ท ชนะที่ 5 และ 6 ก็นกตัวเมีย
-   Van Hove Utterhoeven ชนะที่ 1Provincial Antwerp จุดนี้ก็นกตัวเมีย
-   Marcel Vercammen ก็ชนะที่ 2 Provincialด้วยนกตัวเมีย
-   Rik Cools ชนะที่ 1 Provincial Flandersก็ด้วยนกตัวเมีย
-   วันเดียวกันที่ฮอลแลนด์ Veenstra ก็ชนะที่ 1NPO จุด Albis และ  Hoogland ชนะจุด Orleans นก 15,000 ตัว ทั้งคู่ก็เป็นนกตัวเมีย   ทั้งหมดที่พูดมาก็เป็นวันเดียวเท่านั้นนะครับจะเห็นได้ว่านกตัวเมียนั้นเริ่มเป็นที่นิยมแข่งกันมากขึ้น และ นี่ละครับที่เรียกกันว่า Double Widowhood คือ แข่งทั้งตัวผู้ และ ตัวเมีย  เป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมการเลี้ยง การแข่ง ที่เกิดขึ้นในยุโรปในทศวรรษนี้   วิธีการนี้จะทำให้เขาเลี้ยงนกน้อยลงเพราะไม่ต้องมีนกล่อสำหรับตัวผู้เหมือนในอดีต  ตัวเมีย กับ ตัวผู้ต่างก็ล่อคู่กันไปมา  ซึ่งผู้คนต่างก็ประหลาดใจเมื่อ น.ส.พ. นกได้รายงานผลการแข่งขันในหลายๆ จุดแข่ง  และ นกที่ชนะอันดับเยี่ยมๆ นั้นเป็นนกตัวเมียเสียมาก  แม้ในวันที่อากาศจะไม่ค่อยดีก็ตาม


ก็อยากที่จะสรุปว่าในอดีตนั้นที่ยุโรปเขาไม่นิยมแข่งนกตัวเมียนัก  พวกมันเหมือนกับมีไว้ต้อนรับตัวผู้เวลากลับบ้าน ซึ่งตอนผมอยู่ที่นั้น เกือบ 3 ปี ก็คิดแบบนี้เหมือนกัน เห็นตัวเมียสวยๆ หลายตัว ก็ยังคิดอยู่ว่าพวกนี้ถ้าแข่งน่าจะดีกว่าคู่ของมันเสียอีก  และ  พวกนกตัวเมีบพวกนี้ขอก็ไม่อยากจะให้  ซื้อก็ไม่อยากจะขาย เพราะ เขาเอาไว้ล่อตัวผู้  ยิ่งถ้ามันเข้าคู่ รู้ช่อง รู้ใจ กันแล้ว  ยากมากครับ   เคยแงะมาได้ตัวหนึ่งเป็นตัวที่ผมชอบมาก ตื้ออยู่ 2 ปีครับ เพราะมิตรภาพที่ดีซึ่งกัน เขาให้ฟรีครับ เป็นของขวัญก่อนย้ายกลับ   ปัจจุบันนกตัวเมียเป็นที่นิยมแข่งกันมากขึ้นซึ่งไม่แน่นะในอนาคตเขาอาจจะเลี้ยงนกตัวเมียมากกว่าตัวผู้ก็เป็นได้  ใครจะไปรู้ได้? ……
 
ก็มาถึงช่วงท้ายของบทที่ 7 ซึ่งเมื่อวานก็เขียนไปเกือบจะหมดก็ไม่รู้เป็นอะไรกดปุ่มผิดหายเกลี้ยง ก็เซ็งไปนานพอควร  ไม่เป็นไรมันอยู่ในสมองก็แค่เขียนใหม่เท่านั้นเอง

เรื่องของ Double Widowhood นั้นเป็นอะไรที่ไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นเพราะวัฒนธรรมและการฝังรากลึกในความคิดว่าตัวผู้ดีกว่าตัวเมีย ของ คนเลี้ยงนกที่ เบลเยี่ยม และ ฮอลแลนด์นั้นมีมานาน   จนมีคนเก่งกล้าแหวกแนวความคิดที่ว่าเพิ่มขึ้นและประสบความสำเร็จด้วยนกตัวเมียอย่าง Fieneke 5000 หรือ Paula  จึงทำให้นกตัวเมียที่มีบทบาทโชว์ฝีมือน้อยกว่าได้แสดงความเก่งกาจออกมา      จะว่าไประบบแข่งนกแบบ Double Widowhoodนั้นที่เยอรมันเขาแข่งกันมานานแล้วเป็นเพราะเขามีการแข่งนกตัวเมียกันเป็นกิจจลักษณะและ มีรางวัลความเก่งกาจของประเทศไว้ให้นกและคนเลี้ยงได้แสดงฝีมือ   อย่าลืมว่าที่เยอรมันนั้นเขานับถือนกเก่งเป็นหลัก คือ นกยอดเยี่ยม หรือ ที่บ้านเราเรียกติดปากกันว่า  เอซ พีเจ้น นั่นแหละ  ติดมากอันดับ และ ดีที่สุดถึงจะเก่ง   เอาไว้มีเวลาจะขอเขียนวิจารณ์ และ แนวความคิดเป็นเชิงสร้างสรรค์ และ เป็นแนวให้คิดกัน  ว่าหลายสิ่งที่เราเป็นอยู่นี้ดีแล้วหรือ  เมื่อเปรียบเทียบกับรางวัลต่างๆที่บ้านเรามี   ผมเองเมื่อก่อนตอนที่เป็นกรรมการอยู่ในสมาคมหนึ่งของเมืองไทยก็พยายามผลักดันให้มีการพิจารณารางวัลนี้อย่างเป็นรูปธรรม ให้พวกเราได้เห็นคุณค่ากับนกยอดเยี่ยมมากขึ้น  ก็ผลักดันให้เกิด และ มีรางวัลสูงที่เปี่ยมด้วยคุณค่าอย่างถ้วยพระราชทานให้กับนกที่ชนะ  ก็ใช้เวลากันพอควรครับ   ก็ขอย้อนกลับมาที่เยอรมันอีกหน่อย ไม่ใช่ว่าทุกกรงจะแข่งนกทั้งผู้และเมียกันทุกคน   แต่ที่ผมเคยเห็นมานั้นก็ยังมีพวกชอบตัวผู้อยู่บ้างเหมือนกัน  เขาบ่นว่าตัวเมียมันยุ่ง มันเลสเบี้ยน มันไข่    ลำคาญก็เลยแข่งแต่ตัวผู้   ก็แล้วแต่เขาละครับ

เอาเป็นว่าก่อนจบบทนี้การแข่งนกระบบ Double Widowhood นั้น เป็นการแข่งนกทั้งเพศผู้และเมีย ซึ่งเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการแข่งขันที่เน้นไปที่ตัวผู้เป็นหลัก   การแข่งขันระบบนี้เป็นอะไรที่คล้ายๆกับWidowhood เพียงแต่เพิ่มนกตัวเมีย และ ให้ความสนใจกับนกตัวเมียในการแข่งขันมากขึ้น  มีการล่อคู่นกทั้ง 2 เพศ  แต่ระบบนี้คนเลี้ยงต้องมีเวลาพอ และ มีกรงที่ออกแบบมาดีพอจึงจะได้ผลดี   ระบบก็เริ่มจากนกYoung bird ที่เสร็จจากการแข่งขัน  ก็เริ่มเข้าคู่ มีช่อง  มีกรงของตนเอง  ตัวเมียส่วนใหญ่ก็จะมีที่ยืนแบบ V กันเลสเบียน    จากนั้นทำระบบเข้าคู่ ออกไข่ ฟักลูกไม่กี่วัน  นกก็จะจำคู่ จำกรงตัวเองได้  ก็แยกกรงแข่งออกจากกัน   การปล่อยก็จะแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด  อาจเป็นเช้าผู้ เย็นเมีย ก็แล้วแต่    ช่วงแข่ง ช่วงซ้อมก็มีโอกาสได้เจอกัน  บ้างก็อยู่ไม่นาน  บ้างก็อยู่ถึงเย็น  บ้างก็อยู่ข้ามวันก็มี     เทคนิคที่ว่าทั้งหมดนี้ก็แล้วแต่นักเลี้ยงแต่ละคน เพราะ เทคนิค ความถนัด สภาพของกรง  ความเชื่อ  และ เลือกที่จะปฎิบัตินั้นเป็นเรื่องของแต่ละคนไป  บทที่ 7 ก็เป็นการสรุปซะมากกว่าที่จะแปลตรงๆ  ก็เป็นอะไรที่เกิดขึ้นในวงการนกของเบลเยี่ยม และ ฮอลแลนด์  การเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างนั้นมันไม่ง่าย และ ใช้เวลา แต่ ผลของความสำเร็จที่ได้มานั้นคุ้มค่าในการเปลี่ยนแปลง  นายAD ก็เลยเขียนให้เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่หายไปของนกตัวเมีย  เขียนให้คิดว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นดี เป็นอะไรที่เกิดจากความคิด การสร้างสรร และ ที่สำคัญมันได้ผลด้วยละ

บทที่ 8 ก็เป็นเรื่อง Road is not taken ถนนที่ไม่ได้ถูกเลือกที่จะเดิน บางครั้งมันอาจจะมีอะไรใหม่ๆ ดีๆ ก็ได้ ......

กรุณาเข้า สู่ระบบ ก่อนทำการเขียนข้อความ
Copyright © 2024 www.francisloft.com All right reserved.