10กฎที่น่าจำของนกพิราบแข่ง (ตอนที่ 1)




หลังจากที่ได้นำบทความของนาย AD จากหนังสือ The best of Ad S. Vol.1 มาลงให้อ่านกันในท้ายรายการแข่งของส่งเสริมฯ แม้จะข้ามบางบทบางตอนกันไปบ้าง ก็ไม่ใช่ว่าจะขาดหายไปท่านสามารถหาอ่านได้ที่ www.francisloft.com ก็มีให้ครบทั้ง 42ตอนครับ รวมทั้งบทความอื่นๆทีน่าสนใจ ก็ดีใจที่ 2 เดือนกว่าๆ ณ วันที่เขียนอยู่นี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมกันใกล้ 30,000 ครั้งแล้ว ขอบคุณครับ
วันนี้ก็มีอะไรที่น่าสนใจก็เป็นกฎ 10 ข้อที่คนเลี้ยงนกแข่งเราควรตระหนักถึงและควรจำกัน บทความนี้คงไม่น่าสนใจสำหรับพวกที่คิดว่าตนเองเป็นแชมป์ เป็นเซียน แต่ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจสำหรับคนเลี้ยงนกอีกมาก
ผมเองก็มักที่จะถามคนที่เลี้ยงนกด้วยกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งบ้างก็ให้ความรู้ แบ่งปันกัน บ้างก็ดูแล้วยังปิดๆก็มีก็เลยไม่รู้ว่าที่ปิดเพราะเกรงว่าความลับจะรั่วไหล หรือ สิ่งที่ตนเองทำนั้นอยู่บนพื้นฐานของความไม่แน่นอน ไม่รู้ ไม่มีหลักการ และ ไม่อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล ก็ไม่ว่ากัน คุยเท่าที่คุยได้ ดีกว่าไม่ได้คุยกัน สบายใจตรงไหนก็เจอกันตรงนั้นครับ

คนที่เป็นแชมป์นั้นเชื่อไว้เถอะว่าไม่ใช่เพราะนกของเขาอย่างเดียวที่เก่งและทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์สวยไปหมดแต่เป็นเพราะคนเป็นแชมป์นั้นมีอะไรหลายอย่างที่ทำให้เขาชนะ นอกจากนกแล้วก็ต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดี ที่เหมาะสมกับนกนั่นก็คือกรงนก การออกแบบ การก่อสร้าง ทิศทางลมที่นกเข้านั้นสำคัญ และ ที่สำคัญอีกอย่างก็คือการเลี้ยง การดูแลที่ดี การรู้จักให้ยา การวางแผน การบริหารจัดการที่ดีประกอบกัน กลมกลืนกันไปหมด และ นี่แหละครับที่พื้นที่ของการเป็นแชมป์นั้นมีน้อยเหลือเกินหรือน้อยมากก็ว่าได้ เปรียบง่ายๆคือ คนชนะถ้วยมีแค่ที่ 1,2,3 และ อันดับที่สมาคมตั้งไว้ให้ นอกนั้น 80%หรือมากกว่านั้นไม่ติดอันดับเลย ดังนั้นการเข้าสู่บัลลังค์ ทำเนียบ หรืออย่างน้อยติดอันดับนั้นสมัยนี้ไม่มีฟลุ๊ค นกที่มีปัญหาตั้งแต่เด็ก นกที่ป่วย นกที่ชน นกที่ขนไม่ดี หรือ นกที่เราเรียกกันว่ามีตำหนินั้น ส่วนมากหาที่เบียดมาติดอันดับได้มากกว่าครั้ง สองครั้งนั้นยากครับ นกสมบูรณ์ ไม่มีตำหนิยังเหนื่อยเลย
เราต้องยอมรับกันว่านักเลี้ยงนกสมัยนี้ พัฒนาตนเอง นอกจากสรรหานกพันธุ์ที่ดีๆมาเสริมเติมทีมของตนเองแล้ว พวกเขายังสรรหาเพิ่มเติมความรู้ เพิ่มความขยัน และ อดทนมากขึ้น มีสมาธิกับการเข้าคู่นก เลี้ยงนก ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆกันมากขึ้น และ ที่ผมดีใจก็คือการเชื่อในสิ่งที่มีเหตุมีผล และ มีหลักในการวิเคราะห์กันมากขึ้น ก็อย่างสมัยก่อนที่นักเลี้ยงนกนั้นส่วนใหญ่อยู่ที่ฝั่งกรุงเทพฯกันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นฝูงนกก็อยู่ที่นี่กัน พอวิเคราะห์เรื่องทิศทางลมกันและธรรมชาติสถิติตัวเลขเป็นแบบนั้น ฝูงนกก็สู้อิทธิพลของลมธรรมชาติที่พัดไปไม่ได้ ดังนั้นเราก็เลยทราบกันดีว่าบางครั้งผู้ชนะนั้นไม่ใช่ว่านกหรือคนเลี้ยงกันทั้งหมดแต่อิทธิพลของลมเองก็มีผลแพ้ชนะของวันนั้นไปได้ ก็มีการสร้างกรงที่ฝั่งธนกันมาก ดังนั้นเรามองคนที่ชนะนั้นไม่ใช่เก่งไปหมด แต่ควรมองที่ภาพรวมๆให้ออกทั้งหมด ดูง่ายๆสายเหนือนี้มีหลายจุดที่นกทางมหาชัยแถวนั้นมาเร็วกว่ากรุงเทพฯ ซึ่งเราต้องต่อให้แถวนั้นร่วมครึ่งชั่วโมงได้ ไปกลับนั้นชั่วโมงได้ คงจะเห็นภาพชัดขึ้น ยิ่งคนที่จะหานกพันธุ์มาเสริมกรงนั้นต้องวิเคราะห์ ต้องชั่งน้ำหนักให้หนัก ปัจจัยอะไรที่ทำให้ชนะ…..
กลับมาที่ 10 ข้อที่จั่วหัวไว้
- “นกที่ดี “ มีหรือยัง ถามตัวเองว่าที่มีนะดีจริงหรือไม่ ?
อย่างเช่นมูลีมันส์ เป็นชื่อคน นกเก่งๆก็มีหลายตัว เช่น Kadet, Benjamin, Prins, Whitenose แต่ก็ไม่ใช่ว่านกทุกตัวของเขาเก่ง และ พอเจาะลึกๆไปถึงตัวนกนั้นก็ไม่ใช่ว่าลูกของ Kadet ทุกตัวให้ลูกเก่งนะ ยิ่งพวกสี Choco น้ำตาลแดง ที่บ้ากันทั้งโลกอยู่ช่วงหนึ่งนั้น เขาบอกว่าไม่รู้บ้ากันได้ไง สีนี้มันบินซ้อม 5 กม.ก็หายแล้ว

ก็เป็นตัวอย่างดังนั้นชื่อคน ชื่อสายพันธุ์นั้นมันไม่มีค่าเท่ากับ ความเก่งกาจของตัวนก หรืออย่างน้อยพี่น้อง หรือขั้นลูกของมันก็ยังดี อย่าจำแต่ชื่อเพราะมันไม่ได้บอกอะไรเลย ชื่อบางชื่อที่เอ่ยกันนั้นฝังแล้วแปลกเพราะชื่อนั้นเขาตายไปกว่า 50ปีก็มี และ เป็นสายอะไรของคนที่ตายนั้นหรือ มันเก่งยังไง
เวลาที่เราไปบ้านคนๆหนึ่งเพื่อจะได้นก เราควรรู้ว่าเราไปบ้านนี้ไปเอาอะไร นกตัวไหน ถ้าไม่รู้ ก็เท่ากับเรารู้จักเขาเพียงแค่ชื่อ คุณไม่รู้จักนกของเขาเลย ทั้งๆที่เรานั้นมีจุดมุ่งหมายคือ ไปเอานก อยากได้นก....
ถามตนเองว่า เราอยากได้อะไร? ทำการบ้านดีพอ?
- นกที่ดี มีอยู่เฉพาะกับพวกที่มีชื่อเสียงเท่านั้นหรือ?
บ้านเรานั้นขาดสื่อแต่ดีที่ปัจจุบันโลกออนไลน์ทำให้เราได้รับรู้ข่าวสาร ได้เร็ว ได้เหมือนกับพวกยุโรปดังนั้น เราก็ได้เรียนรู้ว่าคนเก่งๆนั้นไม่ได้มีเฉพาะพวกที่เรารู้จัก และ ที่จริงแล้วเรารู้จักไม่แน่ว่าถึง 1% หรือเปล่าก็ไม่รู้ ที่ยุโรปมีกรงเล็กๆที่เลี้ยงนกไม่มากกันเยอะ พวกนี้น่าสนใจและเป็นเป้าหมายหลักในการหานกของกรงใหญ่ในยุโรปและของผมส่วนหนึ่งก็ว่าได้ นกมีไม่มากทำให้เราเข้าใจนกของเขาได้เร็ว ง่าย และ เข้าถึงแก่นนกที่เราอยากได้ง่ายกว่า
เราต้องยอมรับกันว่าเรารู้จักคนเลี้ยงนกส่วนใหญ่จากสื่อ และสื่อก็เสียเงินลงโฆษณาได้ ลงแล้วลงอีกจนติดตากัน และ ก็มีกรงจำนวนมากๆที่เก่งกาจแต่เขาไม่สนใจเรื่องขายนก เรื่องสื่อ พวกนี้แหละที่กรงใหญ่ๆมาซื้อนกของพวกเขาและไปเติมทีมนกพันธุ์ของเขา นกพวกนี้ไม่แพงจนเกินไปซึ่งถ้าเปรียบไปแล้วราคาถูกกว่าเยอะถ้าเปรียบเทียบกับกรงใหญ่

- อายซายน์ นั้นบ่งบอกถึงนกแข่งเก่ง และ ทำพันธุ์ดีได้จริงๆ หรือ ?

ผมเองก็ไม่มีความรู้เรื่องนี้ และ ขอบอกก่อนว่าไม่ได้ลบหลู่นะครับ เพียงแต่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ บอกตามตรงดูไม่เป็นด้วยว่าตานกแบบไหนบินเก่งหรือทำพันธุ์เก่ง ผมเองเคยได้ฟังจากผู้ใหญ่ที่ผมเคารพท่านหนึ่งว่าตานกมีหลายสี ก็เปรียบเสมือนคนบ้านเราตาดำ ฝรั่งเองก็มีตาหลายสี สีไหนมันเก่งกว่ากันเหรอ
เอาเป็นว่าเรามองอะไรที่ตานกเหรอ? มันมีหลักการ มีหลักอะไรที่ให้เราได้เรียนรู้ มีเหตุผลอะไรตรงไหน ?
หรือถามตนเองดูว่าเรารู้อะไรจากการมองอายซายน์หรือ? ตัวท่านเองฟันธงได้ไหมว่านกตัวไหนเก่งหรือไม่เก่ง ทำพันธุ์ได้ดีหรือไม่ดี จากการมองอายซายน์ และ ท่านเจอยอดนกตัวนั้นๆบ้างหรือยังจากการมองส่องหามาทั้งชีวิต?
จบตอนที่ 1 เท่านี้ก่อนครับ ตอนหน้ามาว่ากันต่อถึงข้ออื่นๆกัน
กรุณาเข้า สู่ระบบ ก่อนทำการเขียนข้อความ