JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0

10 กฎที่น่าจำของนกพิราบแข่ง (ตอนที่ 3)

2012-12-20 22:02:12 ใน สรรสาระ » 0 6255 สวัสดีครับ






ก็มาถึงตอนที่ 3 ของ "10 กฎที่น่าจำของนกพิราบแข่ง" ก็เป็นตอนสุดท้าย  ตอนนี้ผมได้ใส่เนื้อหาน่าคิด หลายๆอย่างเข้าไปมากเหมือนกัน โดยเฉพาะหลักในการคิด การวิเคราะห์

การแข่งนกปัจจุบันนั้นต่างจากอดีตมาก ผมว่ามันเหมือนกับจะไม่ใช่ Hobby เท่าไรนะ เป็นอะไรที่มีเงินมีทองมาเกี่ยวข้องกันมากๆ ดังนั้นการแข่งขัน การเลี้ยงนั้นมีการปรับรูปแบบ เทคนิค การบริหารกัน ใส่ใจในรายละเอียดกันมากขึ้นเพื่อชัยชนะ


8) นกแข่งที่ดี นกพันธุ์ที่ดี ผลงานของกรงเราหรือกรงคนอื่นดีนั้นมองที่ตรงไหน?

นกที่ดีนั้นอยู่ที่ผลงานครับ ไม่เกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อ มองที่รายงานการแข่งขัน  ผลงานในอดีตก็อาจจะใช้คุยได้ แต่แน่นอนสัจจะธรรมนั้นเราควรที่จะมองผลงานปัจจุบันครับ 

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปเบลเยี่ยมไปเที่ยวก็แวะไปหลายกรงปีนั้นสัก 15 กรงได้  กรงหนึ่งที่ผมไปเยี่ยมก็คือ Janssen Arendonk  เราไปเที่ยวกรงแจนเซ่น ตำนานที่คลาสสิคที่สุดของนกพิราบแข่ง และ ได้พูดคุยกับหลุยส์ 

คุยไปคุยมาก็อยากได้นกเขา Louis ในวัยกว่า 90 ปีความจำเรื่องเงินนี้แม่นเพราะเขาคิด 2000 ยูโรต่อตัวลูกนก และ ผมต้องรอ 8 เดือนเพราะตอนที่ผมไปไม่มีนกสำหรับขายแล้ว  เพื่อนผมบอก Louis ว่าถ้างั้นเราขอคิดดูก่อนและจะให้คำตอบกลับไปภายหลัง 


ตอนก่อนออกจากบ้านแจนเซ่นก็จะมีที่ที่นักเลี้ยงนกมักจะถ่ายรูปเก็บไว้คือ ยืนฉี่ที่โถฉี่ข้างกำแพง ซึ่งพี่น้องแจนเซ่นเขาทำไว้ใช้ของพวกเขามานานมากๆสมัยตั้งแต่เริ่มเลี้ยงนก (ก็คงขี้เกียจเดินเข้าห้องน้ำ) ผมจำได้ว่าเคยถ่ายภาพนี้ไว้ เอาไว้หามาลงครับ
ระว่างที่ฉี่เพื่อนชาวเบลเยี่ยมของผมให้แง่คิดดีๆกับผมว่า แจนเซ่นนะไม่ได้แข่งนกกว่า 30 ปี การพัฒนานกนั้นแน่นอนพัฒนาจากนกในกรงซึ่งไม่ได้มีพัฒนาการจากนกที่มีผลงานอย่างต่อเนื่อง เขาไม่แนะนำ และ
ถ้าจะหานกทำพันธุ์ดีๆควรมาจากกรงที่แข่งดี และ มีพัฒนาการมาต่อเนื่อง  ก็ได้แง่คิดดีๆจากเพื่อน 
 

การวิเคราะห์ วัดผลนั้น เราควรที่จะมีหลักที่ดี เพื่อเกิดการยุติธรรมและ แฟร์ในการวัดผล มีเหตุผลดีพอ ไม่ใช่ว่า รักใคร ชอบใคร พวกใคร ก็เชียร์กันแบบไม่มีที่มาที่ไปเรื่อยเปื่อยไม่ลืมหูลืมตา หรือฟังอะไรจากใครมาก็ว่าถูกกันไปหมด
เวลาโดนถาม ก็ตอบได้ไม่เต็มปาก วัดกันจากตรงไหนเหรอ? อ้อ… ฟังเขาเล่ามา    อ้อ… คิดไปเอง    อ้อ… อดีตเขาเก่งนะ  



หลักสำคัญที่ใช้ในการวิเคราะห์

1) จำนวน "นกที่ส่งแข่ง"
ของกรงนั้นๆ
ผลงานมันจะต่างกันมากถ้ากรงหนึ่งส่งนกจำนวนมากมาย เอาเป็นว่าเป็นร้อย แล้วติดอันดับสัก 10 ตัว กับกรงเล็กๆกรงหนึ่งส่ง 3ติด 3 หรือ ส่ง 5 ติด 3-4 ตัว
ลองถามตนเองดูครับว่ากรงไหนที่น่าจะมีผลงานดีกว่าครับ?  ข้อนี้น่าคิดและจะเป็นผลต่อการวิเคราะห์ของกรงอื่น และ ที่สำคัญที่สุดกรงตนเอง ซึ่งว่ากันต่อที่ข้อ 5 ของเรื่องนี้



 

2) จำนวน "นกที่ร่วมแข่ง"
ในวันนั้น
ความยากง่ายของการแข่งขันนั้นแน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนนกที่ร่วมแข่งในวันนั้น ยิ่งมาก ยิ่งยาก แต่ถ้าชนะได้มันน่าภูมิใจใช่ไหมครับ ดังนั้นเราควรนำเรื่องจำนวนนกที่ร่วมแข่งมาวิเคราะห์ด้วย
เพราะอันดับนกก็ประมาณ 20% หรือ น้อยกว่า ดังนั้นมีนกที่ชนะได้ไม่กี่ตัวหรอกครับ และ นกไม่เกิน 3 ตัวที่จะได้ถ้วย  นกที่ได้ถ้วยบ้านเรานั้นทุกสมาคมฯก็ให้กับผู้ชนะที่ 1-3
ดังนั้นจำนวนนกร่วมแข่งมีผลในการวัด การวิเคราะห์แน่นอน



 3) จำนวน "กรงนก" ที่ส่งเข้าร่วมแข่ง
เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากๆ ที่เราต้องนำมาวิเคราะห์ว่าชัยชนะที่เราร่วมแข่งนี้ยากหรือง่ายกว่ากัน ก็คือ จำนวนกรงที่ร่วมแข่งกรงนกยิ่งมาก ยิ่งยากครับ นกมาคนละตัวสองตัวอันดับก็หมดแล้วละครับ
คนเลี้ยงนกทุกคน ทุกกรงต่างก็หวังในชัยชนะ เขาย่อมเลี้ยงนกเขาอย่างดีที่สุดเท่าที่เขาทำกันได้ และ นี่ไงที่กรงยิ่งมากยิ่งยาก

นอกเหนือไปกว่านั้นถ้าเราใส่รายละเอียด เพิ่มเติมเข้าไปในการวิเคราะห์มากขึ้น เราจะเห็นได้ว่า การแข่งขันที่มีนกจำนวนมาก กรงนกจำนวนมาก แถมด้วยเงินรางวัลไม่ว่าจะห่วงพนันที่ใส่กัน กุ๊ เที้ยงต่างๆที่เล่นกันก็เป็นอะไรที่เราควรนำมาประกอบการวิเคราะห์  
ยิ่งมาก ย่อมหมายถึงการแข่งในวันนั้นนั้นยิ่งยาก เขี้ยวลากดิน  เพราะมีเงิน มีห่วงพนันกันมาก ก็ย่อมต้องมีนกเก่งๆที่ทุกคนหมายมั่นปั้น และ คาดหวังในชัยชนะกันมาก เพราะเงินทอง เวลาที่ลงทุนไปต่างก็หวังกันแน่ 
ก็เลยเป็นการแข่งที่เขี้ยวลากดิน  ยิ่งยากเข้าไปใหญ่


 

4) การวัดนก ประเมินนก ที่กรงตนเอง ทั้งนก และ เงินที่ลงทุน กับผลตอบแทน หรือ ผลงานนั้น เคยทำกันบ้างไหม?

คุณเคยประเมินผลงานนกตนเอง ในแต่ละสาย แต่ละปีไหม ผมคิดว่ามีกันหลายๆคนนะ และ ถ้าประเมินได้เป็นตัวนกแข่ง เป็นตัวนกพันธุ์ได้ยิ่งดี เพราะ มันบอกถึงรายละเอียดที่เราใส่ใจเข้าไปมากวิเคราะห์ได้ละเอียดขึ้น
เคยคิดถึงเงินทองที่ลงทุนไป ของที่ซื้อไปไม่ว่าจะอาหาร ยา วิตามิน อาหารเสริม ฯลฯ ว่าท้ายที่สุดผลตอบแทนมันคุ้ม มันดี มันกำไรขาดทุนไปเท่าไร ยิ่งไปกว่านั้นเวลาที่ใช้ไปก็เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนเช่นกัน
ความภูมิใจ เสียใจกับผลงานถ้าวัดได้ก็เป็นส่วนให้เราวิเคราะห์ได้ดีขึ้นเช่นกัน

ถ้าเรานั่งนิ่งๆ ทบทวน จรดปากกา ดินสอ ลองดูว่าอะไรที่ดี ไม่ถูก ไม่ดี ในการเลี้ยง และ ที่สำคัญที่สุดในการวางแผน วางโปรแกรมของสายนั้น ปีนั้น มันดี ไม่ดีตรงไหน
อะไรที่ต้องปรับอะไรที่เป็นส่วนทำให้ผิดพลาดไม่บรรลุถึงเป้าหมายก็จะได้ควบคุม ป้องกันมันมันไม่ยาก และ ไม่ง่ายที่จะทำ แต่ใครละที่ทำแล้ว รู้ซึ้งถึงข้อผิดพลาด และ เตรียมแผนการบริหาร
การป้องกันไว้ ก็แน่นอนไม่มากก็น้อยจะประสบความสำเร็จกว่าที่เคยเป็นมา จะประสบความสำเร็จกว่าคนที่ไม่คิด ไม่ทำ ไม่วิเคราะห์ และ ยิ่งแย่ไปกว่านั้นก็อาจจะโบ้ยก็เอาแต่โทษโน่น โทษนี่ แต่ไม่เคยโทษตนเองก็มีนะ

 

“นกพันธุ์” ที่มีอยู่ คิดว่าทุกคนว่ามันดีแน่ ถ้าไม่ดีไม่เก็บไว้ ก็ไม่ว่ากัน เอาเป็นว่าเราเข้าคู่นกอย่างไร ได้เข้ามันไหม ถ้าเข้าคู่นก นกอยู่ก็มีโอกาสได้แข่ง ก็มีโอกาสได้เกิดหรือดับ 
แต่ถ้าไม่ได้เข้าคู่ ก็จบเลยไม่ได้เกิด ทั้งๆที่มันอาจจะเป็นนกที่ดีมาก ให้ลูกเป็นยอดนกที่กรงท่านก็ได้  คนเลี้ยงนกจำนวนมากใช้ตา ใช้ใจ ความรู้สึกของตัวเองวัดนกเวลาเข้าคู่
บางท่านก็เป็นหมอดูเลยก็มีเพราะไปทายอนาคตลูกหลานมัน ก่อนจะได้มีโอกาสแจ้งเกิดซะงั้น  ก็เลยไม่เข้าคู่ก็มีเยอะครับ การเข้าคู่นกเราต้องมียอดบัญชีคงเหลือของจำนวนนกพันธุ์ ตัวไหนเข้า ไม่เข้าจะได้รู้
 
การวิเคราะห์นั้นควรจะมีการเก็บรายละเอียด ตรวจสอบดูเป็นช่วงๆ สมุดเข้าคู่ ตารางเข้าคู่ นกที่เกิดหมายเลขอะไร ขึ้นกรงตอนไหน ตรวจสอบยอดนกคงเหลือดูเป็นช่วงๆครับว่า
ตัวไหนยังคงอยู่ ตัวไหนไม่อยู่ก็บันทึกเอาว่าหายไปเพราะอะไร ตาย หาย ชน เมื่อไรก็เป็นการตรวจสภาพนกไปในตัวว่าส่วนใหญ่เป็นอย่างไรบ้าง มีตัวไหนมีปัญหาบ้างหรือไม่ยิ่งช่วงซ้อม ช่วงแข่งต้องยิ่งละเอียดว่านกตัวไหนส่งแข่ง ติดอันดับไหม
เราจะได้เห็นว่าส่งกี่ครั้ง ติดได้มากน้อยดีเลวแค่ไหนก็จะได้วัด นกแข่ง นกพันธุ์ กันไป


 

5) การตั้งเป้าหมาย
ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ
การตั้งเป้าหมายนั้นผมว่าเป็นเรื่องที่ดี และ ควรทำ เราจะได้รู้ว่า เราทั้งเจ้าของและคนเลี้ยงนั้นทำผลงานได้เข้าเป้ามากน้อยแค่ไหน  เสร็จแล้วก็มาประเมินกันที่นก เพราะ ถ้าเราไม่ประเมินคนก็เท่ากับเรามองข้ามสิ่งที่สำคัญที่สุดไปเรื่องหนึ่งเลยละ 
นกมันกิน มันโดนฉีดยา กินยา มันบิน มันซ้อม มันแข่ง ก็แน่นอนมาจากคนดังนั้น เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินเช่นกันครับ

 

 9) "นกดี" กับ "นกสวย" มันต่างกันนะ!
เวลาที่เรามองนกมันไม่ยากที่จะบอกว่านกตัวนี้ "ไม่ดี" ถ้าเราเห็นข้อเสียในตัวนกชัดเจน เช่นสุขภาพนกที่อ่อนแอ ขนนกไม่ดีไม่สวย  แต่สิ่งที่ยากคือนกที่สวยดี สุขภาพดีแต่เราฟันธงมันไม่ได้หรอกว่ามันไม่ดี 
เราสังเกตเห็นคนทั่วไป ไม่มีใครกล้าบอกแบบฟันธงได้ว่านกตัวนี้ดีและมันต้องบินเก่ง และ ให้ลูกแข่งดีแน่นอน เขากลับบอกว่ามันสวยดีนะ 



ครั้งหนึ่งตอนผมไปที่ฮอลแลนด์ผมโดนเซียนใหญ่ของโลกคนหนึ่งคือ Piet Manders ถามผมถึงนกตัวหนึ่งที่เขาจับให้ผมดู เขาถามผมว่า นกตัวนี้ดูแล้วเป็นไง? คิดว่ามันเก่งไหม? ผมคิดในใจว่า (กูจะไปรู้ได้ไงว่ามันเก่งหรือไม่ หรือ เขาจะลองภูมิเราวะเนี่ย)
ผมเองก็ตอบว่านกตัวนี้มันสวยดี โครงสร้างดี  เขากลับถามผมว่า แล้วมันเก่งไหมละ?  ผมก็เลยตอบว่าผมไม่รู้   เขากลับยิ้มและบอกเพื่อนผมว่าวิรัชฉลาดที่ไม่กล้าฟันธง 
นกที่ผมถือนะมันชนะที่ 1 ถึง 2 ครั้ง และ ชนะรายการใหญ่ระดับ National มีนกที่ร่วมแข่งประมาณ 6พันถึง 8พันตัว  ผมก็บอกเขาว่าผมไม่รู้ว่ามันเก่งหรือไม่ แต่ผมจับแล้วดูดี สวย และ ผมชอบก็เลยขอซื้อลูกมา 2 ตัว



คนจำนวนมากยังหลงประเด็นระหว่าง "นกสวย" กับ "นกดี" อยู่ดังนั้นบนพื้นฐานที่เท่ากันคือมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง เราก็จะมองหานกที่ดีจากผลงานของมัน หรือ อย่างน้อยก็ตระกูลของมัน ถ้าเอาสวยไว้ก่อน ก็ควรคิดไว้ว่า


"ความสวยใช้บินแข่งไม่ได้นะ ผลงานต่างหากที่เราทุกวันนี้แข่งกัน"


 

10) Adeno / Coli โรคร้ายของนกอ่อน Young birds!

โรคนี้เป็นโรคร้ายที่เกิดจากไวรัส และ เป็นกันมากเมื่อหลายปีก่อนที่ยุโรป  และ ระบาดไปทั่วโลก ตายกันเป็นเบือ บ้านเราก็โดนกันเหมือนกัน  โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยาป้องกันที่ตรงเปะกับโรค 
กรงไหนโดนก็เหมือนฝันร้าย เพราะ มันมาเร็วเคลมเร็วคือตายเร็ว และ ตายกันมาก



ที่เมืองนอกเขาสังเกตุและเห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือใครที่ให้อาหารลูกนกที่มีอายุตั้งแต่ 10 สัปดาห์ขึ้นไปด้วยสูตรอัตราส่วนคงที่ โอกาสที่จะเกิดโรคนั้นน้อยกว่าพวกที่ให้อาหารแบบเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนในระหว่างสัปดาห์ 
เป็นเพราะนกที่ให้อาหารแบบเปลี่ยนแปลงสูตรนั้นระบบภายใน การทำงานของระบบสำไส้ของนกอ่อน หรือ youngbirds นั้นอ่อนแอกว่านกที่ให้อาหารสูตรคงที่ 
พวกที่ให้ประเภทสูตรน้อย diet ต้นสัปดาห์ และ ไปหนักเอาช่วงปลายสัปดาห์มีโอกาสเป็นโรคมากกว่า 

เรื่องป้องกัน ยา และ การทำอย่างไรที่จะทำให้ร่างกายมัน ฟื้นฟูมันให้กลับมาเร็วและดีนั้น เอาไว้ว่ากันที่เรื่องอื่นหัวข้อต่างหากของมันถ้ามีใครเป็นหรือกังวล การป้องกัน หรือ เมื่อมีนกเป็นแล้วเขาก็มีการให้ยาเยียวยา ทำให้มันประคองตัวและฟื้นฟูร่างกายของมันกลับขึ้นมาได้
ก็มียาของบริษัทที่มีชื่อเสียง เชื่อถือได้ และ ยอมรับกันทั่วโลก ขายกัน ก็ลองหาดูนะครับ
 
ก็จบครบสิบข้อ  ซึ่งขอบอกก่อนว่ากฎสิบข้อนี้เป็นการนำโครงของนาย AD S. มาดัดแปลง และ ผมเองก็เติมไปเยอะมาก ตามประสบการณ์ เพื่อความเข้าใจ เห็นภาพได้ชัดขึ้น และ ตรงกับบ้านเรา 
ก็หวังว่า กฎทั้ง 10ข้อจะเป็นประโยชน์กับหลายๆท่าน และ แน่นอนอย่างที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่ามันไม่มีประโยชน์แน่สำหรับคนที่คิดว่าตนเองเป็นแชมป์และเป็นเซียนบนหิ้งแล้วครับ……..

เรื่องต่อไปที่จะเขียนก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆอีกเรื่อง ก็ติดตามกันนะครับว่า การดูแลสุขภาพของนกที่กลับจากแข่งมีอะไรที่ต้องคิดถึงกันบ้าง


Francis Loft
 
กรุณาเข้า สู่ระบบ ก่อนทำการเขียนข้อความ
Copyright © 2024 www.francisloft.com All right reserved.